วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ
สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. ๒๕๓๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
           โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
           จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
           มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕"
           มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
           มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
           (๑) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓
           (๒) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๘ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
           มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
           "สัตว์ป่า" หมายความว่าสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีกแมลงหรือแมง ซึ่งโดยสภาพธรรมชาติย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในป่าหรือในน้ำ และให้หมายความรวมถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นทุกชนิดด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะแล้ว และสัตว์พาหนะที่ได้มาจากการสืบพันธุ์ของสัตว์พาหนะดังกล่าว
           "สัตว์ป่าสงวน" หมายความว่า สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และตามที่จะกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
           "สัตว์ป่าคุ้มครอง" หมายความว่า สัตว์ป่าตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
           "ล่า" หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึงการไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย
           "ซากของสัตว์ป่า" หมายความว่า ร่างกายหรือส่วนของร่างของสัตว์ป่าที่ตายแล้วหรือเนื้อของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะได้ปิ้ง ย่าง รม ตากแห้ง หมักหรือทำอย่างอื่นเพื่อไม่ให้เน่าเปื่อย และไม่ว่าจะชำแหละ แยกออก หรืออยู่ในร่างของสัตว์ป่านั้นและหมายความรวมถึง เขา หนัง กระดูก ฟัน งา ขนาย นอขน เกล็ด เล็บ กระดอง เปลือก หรือส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ป่าที่แยกออกจากร่างของสัตว์ป่าไม่ว่าจะยังมีชีวิตหรือตายแล้ว
           "เพาะพันธุ์" หมายความว่า ขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่นำมาเลี้ยงไว้โดยวิธีผสมพันธุ์สัตว์ป่า และหมายความรวมถึงขยายพันธุ์สัตว์ป่าโดยวิธีผสมเทียมหรือการย้ายฝากตัวอ่อนด้วย
           "ค้า" หมายความว่า ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจกหรือโอนกรรมสิทธิ์ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และหมายความรวมถึงมีหรือแสดงไว้เพื่อขายด้วย
           "นำเข้า" หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
           "ส่งออก" หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
           "นำผ่าน" หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักร
           "ด่านตรวจสัตว์ป่า" หมายความว่า ด่านตรวจสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่า
           "สวนสัตว์สาธารณะ" หมายความว่า สถานที่หรือบริเวณซึ่งรวบรวมสัตว์ป่าไว้เพื่อประโยชน์แก่การพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษา การค้นคว้าหรือวิจัยของประชาชน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่า
           "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
           "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมป่าไม้หรืออธิบดีกรมประมงเฉพาะที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ
           "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
           "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
           มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
           กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
           มาตรา ๖ การกำหนดให้สัตว์ป่าชนิดใดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองให้กระทำโดยกฎกระทรวงและโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           กฎกระทรวงที่ออกตามวรรคหนึ่งจะใช้บังคับตั้งแต่วันใด ให้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนั้น แต่จะกำหนดให้ใช้บังคับก่อนหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษามิได้
           มาตรา ๗ ผู้ใดล่าสัตว์ป่าโดยฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ด้วยความจำเป็นและภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
           (๑) เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือเพื่อสงวนหรือรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น
           (๒) การล่านั้นได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ และ
           (๓) ในกรณีที่สัตว์ที่ถูกล่านั้นเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองมิได้นำสัตว์ป่าที่ถูกล่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ถูกล่านั้นเคลื่อนที่ และได้แจ้งเหตุที่ได้ล่าสัตว์ป่าไปแล้วนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบโดยไม่ชักช้า
           ให้สัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ถูกล่าตามวรรคหนึ่งตกเป็นของแผ่นดินและให้กรมป่าไม้หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี นำไปดำเนินการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           มาตรา ๘ การพิจารณาคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้มีอำนาจอนุญาตจะต้องดำเนินการพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาคำขอให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับคำขออนุญาต และถ้ามิได้แจ้งผลการพิจารณาคำขอให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้มีอำนาจอนุญาตมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอและต้องออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอนั้น
           เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะได้กำหนดอายุใบอนุญาตไว้เป็นอย่างอื่นใบอนุญาตหรือใบรับรองที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตให้ยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าผู้มีอำนาจอนุญาตจะสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้
           การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาตหรือใบรับรอง การออกใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับรองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
หมวด ๑
บททั่วไป


 
           มาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ" ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินสิบเอ็ดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้อธิบดีกรมป่าไม้เป็นกรรมการและเลขานุการ
           กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้แทนของสมาคมหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้ง
           มาตรา ๑๐ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
           มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๐ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
           (๑) ตาย
           (๒) ลาออก
           (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
           (๔) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ
           (๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
           ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
           ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว
           มาตรา ๑๒ การประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
           การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก
           กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
           มาตรา ๑๓ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
           มาตรา ๑๔ คณะกรรมการจะตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้
           มาตรา ๑๕ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
           (๑) ให้ความเห็นชอบในการกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา ๓๓ การกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและการกำหนดชนิดหรือประเภทของสัตว์ป่าที่จะห้ามล่าในเขตนั้นตามมาตรา ๔๒
           (๒) ควบคุมให้การเป็นไปตามมาตรา ๓๕
           (๓) กำหนดกิจการอันพึงกระทำเพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
           (๔) ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงและระเบียบ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
           (๕) กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ และติดตามการปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
           (๖) ปฏิบัติการอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ
หมวด ๒
คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ

           มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๒๖
           มาตรา ๑๗ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ มีอำนาจกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ โดยกำหนดเป็นกฎกระทรวง
           มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้ผู้ใดเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองเว้นแต่
           (๑) เป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ โดยได้รับใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์จากอธิบดี
           (๒) เป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง และดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ ซึ่งได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้เพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองเพื่อประโยชน์แก่กิจการสวนสัตว์สาธารณะของตน
           การขออนุญาตและการอนุญาตให้เพาะพันธุ์สัตว์ตามวรรคหนึ่ง และการได้มาซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อการเพาะพันธุ์ของผู้รับใบอนุญาตตาม (๑) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
           ใบอนุญาตตาม (๑) และ (๒) ให้สิ้นอายุลงเมื่อผู้รับใบอนุญาตได้แจ้งการเลิกการดำเนินการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่ได้รับอนุญาตต่ออธิบดีตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว และโดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
           การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
           ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่
           (๑) การครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ (๑) ที่มีไว้เพื่อการเพาะพันธุ์หรือได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว
           (๒) การครอบครองสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะของผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ และได้จัดแสดงไว้ในสวนสัตว์สาธารณะที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้น
           มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว เว้นแต่เป็นการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าวทั้งนี้ โดยได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
           การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง
           ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่นและผู้ที่อาศัยอำนาจของผู้รับอนุญาตดังกล่าวแต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
           มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้ผู้ใดยิงสัตว์ป่าในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น
หมวด ๓
การล่า การเพาะพันธุ์ การครอบครอง และการค้าซึ่งสัตว์ป่า
ซากของสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า


           มาตรา ๒๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี
           การนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ (๑) หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์และโดยได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
           การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๒๔ การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าชนิดที่ต้องมีใบอนุญาต หรือใบรับรองให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านตามความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าต้องได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองจากอธิบดี
           การขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๒๕ การนำสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้าของผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๐ ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
           การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๒๖ บทบัญญัติมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๓ มิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ซึ่งกระทำโดยราชการ และโดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           ในกรณีที่การกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำเพื่อกิจการเพาะพันธุ์ของผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ การเรียกเก็บและการชำระค่าใช้จ่าย ค่าบริการ หรือค่าตอบแทนและราคาสัตว์ป่า ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           มาตรา ๒๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจตั้งด่านตรวจสัตว์ป่าและกำหนดเขตของด่านโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
           มาตรา ๒๘ ผู้ใดนำสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวเคลื่อนที่ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า ต้องแจ้งเป็นหนังสือตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า โดยแสดงใบอนุญาตให้นำเคลื่อนที่เพื่อการค้า ให้นำเข้า ให้ส่งออกหรือให้นำผ่าน แล้วแต่กรณี เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและอนุญาตเป็นหนังสือแล้วจึงให้นำเคลื่อนที่ต่อไปได้
หมวด ๔
การนำเข้า ส่งออก นำผ่าน นำเคลื่อนที่ซึ่งสัตว์ป่า และด่านตรวจสัตว์ป่า


           มาตรา ๒๙ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
           ใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้สิ้นอายุลงเมื่อผู้รับใบอนุญาตแจ้งการเลิกการดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๓๒
           การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
           ในการดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
           มาตรา ๓๐ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก่อนเปิดดำเนินการ ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่มีไว้ในครอบครอง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบและจดแจ้งไว้ในทะเบียน
           ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของตน อยู่หรือแสดงไว้ภายในบริเวณสวนสัตว์สาธารณะที่จัดตั้งขึ้น และต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้าทุกครั้งที่สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่อยู่ในครอบครองเพิ่มจำนวนขึ้นหรือลดจำนวนลง
           การแจ้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๓๑ ในกรณีที่ปรากฏว่า บริเวณที่ตั้งของสวนสัตว์สาธารณะหรือสถานที่เลี้ยงสัตว์มีสภาพขัดต่อหลักเกณฑ์ เงื่อนไขหรือข้อกำหนดที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามมาตรา ๒๙ หรือเกิดมีสภาพอันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนที่เข้าไปในสวนสัตว์สาธารณะหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความทุกข์ทรมานแก่สัตว์ป่าที่อยู่ในสวนสัตว์สาธารณะ ให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสภาพเช่นว่านั้นให้หมดไปได้
           ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการตามคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในคำสั่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าปรับปรุงแก้ไขโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้รับใบอนุญาต
           มาตรา ๓๒ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ ประสงค์จะเลิกดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีทราบล่วงหน้า และให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการจำหน่ายสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่มีอยู่ในครอบครองให้แก่ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ รายอื่นหรือจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ (๑) ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งการบอกเลิกไปยังอธิบดี
           เมื่อสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามวรรคหนึ่ง ยังมีสัตว์ป่าสงวนสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวเหลืออยู่เท่าใด ให้สัตว์ป่าสงวนสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน โดยผู้รับใบอนุญาตต้องส่งมอบสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวให้แก่กรมป่าไม้หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการต่อไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
หมวด ๕
สวนสัตว์สาธารณะ


           มาตรา ๓๓ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัยเพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า ก็ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า"
           ที่ดินที่กำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง
           มาตรา ๓๔ การขยายหรือการเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่มิใช่เป็นการเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด ให้มีแผนที่แสดงเขตที่เปลี่ยนแปลงไปแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย
           มาตรา ๓๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีหลักเขตและป้าย หรือเครื่องหมายอื่นแสดงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ตามสมควร เพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
           มาตรา ๓๖ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือมิใช่ หรือเก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า เว้นแต่จะกระทำเพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           มาตรา ๓๗ นอกจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานอื่นใดซึ่งต้องเข้าไปปฏิบัติการตามหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
           ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๓๘ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินหรือปลูก หรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือตัด โค่น แผ้วถางเผา หรือทำลายต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น หรือขุดหาแร่ ดิน หิน หรือเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์หรือสัตว์ป่า หรือเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วยหนอง บึง ท่วมท้น เหือดแห้ง เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า
           ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองดูแล รักษาหรือบำรุงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อการเพาะพันธุ์ การศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้การศึกษาหรือการพักอาศัยหรืออำนวยความปลอดภัย หรือให้ความรู้แก่ประชาชน ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           มาตรา ๓๙ การจัดการกับไม้หรือพฤกษชาติอื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตัด โค่น หรือแผ้วถาง ตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           มาตรา ๔๐ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
           มาตรา ๔๑ ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือมิใช่ หรือเก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่าในบริเวณวัดหรือในบริเวณสถานที่ที่จัดไว้เพื่อประชาชนใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
           มาตรา ๔๒ บริเวณสถานที่ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันแห่งใด รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะกำหนดให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดหรือประเภทใดก็ได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
           เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดหรือประเภทใดแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้
           (๑) ล่าสัตว์ป่าชนิดหรือประเภทนั้น
           (๒) เก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่าซึ่งห้ามมิให้ล่านั้น
           (๓) ยึดถือครอบครองที่ดิน หรือตัด โค่น แผ้วถาง เผา ทำลายต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น หรือขุดหาแร่ ดิน หิน หรือเลี้ยงสัตว์ หรือเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึง ท่วมท้นเหือดแห้ง เป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี หรือเมื่ออธิบดีได้ประกาศอนุญาตไว้เป็นคราว ๆ ในเขตห้ามล่าแห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะ
           ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานอื่นใดมีความจำเป็นต้องปฏิบัติการตามกฎหมาย หรือปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานนั้นต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
หมวด ๖
บริเวณและสถานที่ห้ามล่าสัตว์ป่า


           มาตรา ๔๓ เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ข้อกำหนด หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ได้ไม่เกินเก้าสิบวัน หรือถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียก็ได้
           ในกรณีที่เพิกถอนใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวไว้ในครอบครองให้ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจำหน่ายสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่มีไว้ในครอบครองภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ถ้าพ้นกำหนดนั้นแล้วยังมิได้จำหน่ายหรือจำหน่ายไปบางส่วน ให้สัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ยังมิได้จำหน่ายหรือเหลือจำหน่ายนั้นตกเป็นของแผ่นดินและให้กรมป่าไม้หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี นำไปดำเนินการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           มาตรา ๔๔ ในกรณีที่บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ นอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และจะต้องเสียค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ไปปฏิบัติงานเท่าอัตราของทางราชการ และต้องจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายจริง
           การยื่นคำขอและการจ่ายเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๔๕ ในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           มาตรา ๔๖ ถ้าเห็นเป็นการสมควรให้ประชาชนชำระค่าบริการหรือค่าตอบแทนเนื่องในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้บริการหรือให้ความสะดวกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อธิบดีมีอำนาจกำหนดอัตราและวางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บค่าบริการหรือค่าตอบแทนดังกล่าวได้ ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           เงินที่เก็บได้ตามวรรคหนึ่ง และเงินที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรใด ๆและให้ใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
หมวด ๗
พนักงานเจ้าหน้าที่


           มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๔๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ มาตรา ๒๓ วรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๔๙ ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๕๐ ผู้ใดทำการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๕๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
           มาตรา ๕๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๕๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๔๒ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๘ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นได้ยึดถือ ครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ตนได้กระทำผิด ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทน และบริวารของผู้กระทำความผิดออกไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้นได้
           การจัดการกับไม้หรือพฤกษชาติอื่นที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๓๘วรรคหนึ่ง ได้ตัด โค่น หรือแผ้วถางลงไว้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ แต่ระเบียบดังกล่าวจะกำหนดให้จำหน่ายให้บุคคลอื่นใดที่มิใช่ส่วนราชการมิได้
           มาตรา ๕๕ ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ โดยประการใดซึ่งสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๕๖ ผู้ใดกระทำให้หลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่น ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีตามพระราชบัญญัตินี้เคลื่อนที่ ลบเลือน เสียหาย หรือไร้ประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๕๗ บรรดาอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ วรรคสอง ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่
           มาตรา ๕๘ บรรดาสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวนซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว หรือรังของสัตว์ป่าที่บุคคลได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลสั่งริบเสียทั้งสิ้น
           บรรดาสิ่งที่ศาลสั่งริบ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้กรมป่าไม้หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี นำไปดำเนินการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           มาตรา ๕๙ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมด้วย
           มาตรา ๖๐ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีมอบหมายโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ และเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หมวด ๘
บทกำหนดโทษ


           มาตรา ๖๑ เมื่อได้มีกฎกระทรวงตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่งใช้บังคับการดำเนินการแก่สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดเพิ่มเติมขึ้น หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลใดก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ ให้เป็นไปดังนี้
           (๑) ให้ผู้มีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดเพิ่มเติมขึ้นอยู่ในความครอบครองก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ แจ้งชนิดและจำนวนสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว หากผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปให้จำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ หรือจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่เท่าใดให้สัตว์ป่าคุ้มครองนั้นตกเป็นของแผ่นดินและให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่กรมป่าไม้หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ในกรณีที่สัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งประสงค์จะเพาะพันธุ์สัตว์นั้น ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้
           หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้นั้นว่าอยู่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยแก่สัตว์นั้นเพียงใดหากเห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยให้อธิบดีอนุญาตให้ผู้นั้นครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ โดยออกใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ใบอนุญาตดังกล่าวให้มีอายุเพียงเท่าอายุของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และเมื่อสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นโดยการสืบพันธุ์หรือตาย ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ
           (๒) สำหรับซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้ผู้ครอบครองหรือเจ้าของแจ้งชนิดและจำนวนของซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียน และให้ผู้นั้นครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ ในกรณีที่เป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีไว้เพื่อการค้า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดแจ้งชนิดและจำนวนของซากสัตว์ป่านั้นไว้แล้ว ให้ผู้ครอบครองซากของสัตว์ป่าเพื่อค้านั้นดำเนินการจำหน่ายซากของสัตว์ป่านั้นให้เสร็จสิ้นภายในสามปี
           แบบและวิธีการแจ้งตาม (๑) และ (๒) และการออกใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว และใบรับรองการครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๖๒ ให้ถือว่าสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๑ และสัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภทที่ ๒ ที่กำหนดขึ้นตามกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้
           มาตรา ๖๓ ให้บรรดาบริเวณที่ดินที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอยู่แล้วตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นเขตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
           มาตรา ๖๔ บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ และยังใช้บังคับอยู่ก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
           มาตรา ๖๕ ให้การอนุญาตให้ล่าสัตว์ป่าสงวน ใบอนุญาตล่าสัตว์ป่าคุ้มครองทุกประเภท ใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองและใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้ออกให้แก่บุคคลใดไว้แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นอันสิ้นอายุนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
           มาตรา ๖๖ ผู้ใดมีสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับถ้าได้นำสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว มามอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ และให้สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินและเมื่อได้จดแจ้งชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าที่รับมอบไว้แล้ว อธิบดีอาจมอบสัตว์ป่าดังกล่าวให้อยู่ในความดูแลของผู้นั้นต่อไปได้ตามที่เห็นสมควรทั้งนี้โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสัตว์นั้นเป็นสำคัญ
           ผู้ใดมีซากสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นแจ้งชนิดและจำนวนซากของสัตว์ป่าดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดแจ้งรายการไว้แล้ว ก็ให้ผู้นั้นครอบครองซากของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองต่อไปได้ แต่จะจำหน่าย จ่าย โอนให้แก่ผู้อื่นมิได้ เว้นแต่โดยการตกทอดทางมรดก
           มาตรา ๖๗ ให้ผู้มีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งไว้แล้ว ให้ปฏิบัติต่อไปดังนี้
           (๑) สำหรับสัตว์ป่าสงวน ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองจำหน่ายสัตว์ป่าสงวนให้แก่ผู้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะที่ได้ยื่นคำขออนุญาตไว้แล้วตามมาตรา ๖๙ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังมีสัตว์ป่าสงวนเหลืออยู่ในความครอบครองอีกเท่าใด ให้สัตว์ป่าสงวนนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบสัตว์ป่าสงวนนั้นให้แก่กรมป่าไม้หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           (๒) สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้นำมาตรา ๖๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
           (๓) สำหรับซากของสัตว์ป่าสงวน ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองครอบครองซากของสัตว์ป่าสงวนนั้นต่อไปได้ แต่จะจำหน่าย จ่าย โอนให้แก่ผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี หรือโดยการตกทอดทางมรดก
           (๔) สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของผู้รับใบอนุญาตให้ค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๖๘ ให้ผู้นั้นค้าสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ซึ่งได้มาจากการเพาะพันธุ์ต่อไปได้ สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองอันมิใช่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ที่มีไว้ในความครอบครองเพื่อค้าให้ผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในสองปีนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว มีสัตว์ป่าคุ้มครองอันมิใช่สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์เหลืออยู่เท่าใดให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งมอบแก่กรมป่าไม้หรือกรมประมง แล้วแต่กรณีเพื่อนำไปดำเนินการทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
           (๕) สำหรับซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของผู้รับใบอนุญาตให้ค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สำรวจและจดแจ้งชนิดและจำนวนซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวมีอยู่ในความครอบครองไว้แล้วให้อธิบดีออกใบอนุญาตค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้แก่ผู้นั้น ผู้รับใบอนุญาตค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว จะต้องจำหน่ายซากของสัตว์ป่าที่มีอยู่ในความครอบครองให้เสร็จสิ้นภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตให้ค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว และต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับชนิดและจำนวนซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ขายไปในแต่ละเดือนเสนอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวมีซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่เท่าใดให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งมอบแก่กรมป่าไม้หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการทั้งนี้ เว้นแต่เป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์และผู้นั้นได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ค้าซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๖๘ ไว้แล้ว
           แบบและวิธีการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา ๖๘ ผู้ใดดำเนินกิจการเพาะพันธุ์ ดำเนินกิจการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์อยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าอธิบดีจะมีคำสั่งไม่อนุญาต
           ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งไม่อนุญาตคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
           มาตรา ๖๙ ผู้ใดจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้รับคำขออนุญาตแล้วและพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า บริเวณและสถานที่ประกอบกิจการเป็นไปโดยถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๐ วรรคสอง และวรรคสาม และมาตรา ๓๑ และได้จดแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าสงวนสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวไว้แล้วให้อธิบดีออกใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะให้แก่ผู้นั้น
           มาตรา ๗๐ คำขออนุญาตใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอธิบดีให้ถือว่าคำขอนั้นสิ้นสุดลงเว้นแต่เป็นคำขออนุญาตดำเนินกิจการอันอาจอนุญาตได้ตามพระราชบัญญัตินี้ให้อธิบดีพิจารณาคำขออนุญาตนั้นต่อไป
บทเฉพาะกาล


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕)
           อัตราค่าธรรมเนียม           ๑. ใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท
           ๒. ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่า คุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
           ๓. ใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจาก การเพาะพันธุ์ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท
           ๔. ใบอนุญาตให้ค้าซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจาก การเพาะพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของ สัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท
           ๕. ใบอนุญาตให้นำเข้า หรือให้ส่งออกซึ่งสัตว์ป่า คุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของ สัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
           ๖. ใบอนุญาตให้นำเข้า ให้ส่งออก ซึ่งสัตว์ป่าหรือ ซากของสัตว์ป่า ฉบับละ ๕๐๐ บาท
           ๗. ใบอนุญาตให้นำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่า คุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่า คุ้มครอง ฉบับละ ๕๐๐ บาท
           ๘. ใบอนุญาตให้นำสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของ สัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้า ฉบับละ ๑๐๐ บาท
           ๙. ใบรับรองให้นำเข้า ให้ส่งออก หรือให้นำผ่าน ซึ่งสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่า ฉบับละ ๕๐๐ บาท
           ๑๐. ใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์ สาธารณะ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท
           ๑๑. ใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับรอง ฉบับละ ๑๐๐ บาท
           ๑๒. การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละ ๕๐๐ บาท
           บัญชีสัตว์ป่าสงวน           ๑. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร Pseudochelidon sirintarae
           ๒. แรด Rhinoceros sondaicus
           ๓. กระซู่ Didermocerus sumatraensis
           ๔. กูปรีหรือโคไพร Bos sauveli
           ๕. ควายป่า Bubalus bubalis
           ๖. ละองหรือละมั่ง Cervus eldi
           ๗. สมันหรือเนื้อสมัน Cervus schomburgki
           ๘. เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ Capricornis sumatraensis
           ๙. กวางผา Naemorhedus griseus
           ๑๐. นกแต้วแล้วท้องดำ Pitta gurneyi
           ๑๑. นกกระเรียน Grus antigone
           ๑๒. แมวลายหินอ่อน Pardofelis marmorata
           ๑๓. สมเสร็จ Tapirus indicus
           ๑๔. เก้งหม้อ Muntiacus feai
           ๑๕. พะยูนหรือหมูน้ำ Dugong dugon
             หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถทำให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสมดังวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ประกอบกับจำเป็นจะต้องเร่งรัดการขยายพันธุ์สัตว์ป่าและให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าควบคู่กันไป และเนื่องจากปัจจุบันได้มีความตกลงระหว่างประเทศในการที่จะร่วมมือกันเพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของท้องถิ่นอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก ดังนั้น เพื่อปรับปรุงให้มาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ

รายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง

รายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง

สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

  • กระจงควาย (Tragulus napu)
  • ๒ กระจงเล็ก (Tragulus javanicus)
  • ๓ กระต่ายป่า (Lepus pequensis)
  • ๔ กระทิงหรือเมย (Bos gaurus)
  • ๕ กระรอกขาว (Callosciurus finlaysoni finlaysoni)
  • ๖ กระรอกบินแก้มสีแดง (Hylopetes lepidus)
  • ๗ กระรอกบินแก้มสีเทา (Hylopetes platyurus)
  • ๘ กระรอกบินเล็กแก้มขาว (Hylopetes phayrei)
  • ๙ กระรอกบินเล็กเขาสูง (Hylopetes alboniger)
  • ๑๐ กระรอกบินสีเขม่า (Pteromyscus pulverulentus)
  • ๑๑ กระรอกสามสี (Callosciurus prevostii)
  • ๑๒ กระรอกหน้ากระแต (Rhinosciurus laticaudatus)
  • ๑๓ กระรอกหางม้าใหญ่ (Sundasciurus hippurus)
  • ๑๔ กวางป่า (Cervus unicolor)
  • ๑๕ ค่างดำ (Presbytis femoralis)
  • ๑๖ ค่างแว่นถิ่นใต้ (Presbytis obscurus)
  • ๑๗ ค่างแว่นถิ่นเหนือ (Presbytis phayrei)
  • ๑๘ ค่างหงอก (Presbytis cristata)
  • ๑๙ ค้างคาวกินแมลงนิ้วสั้น (Nyctalus noctula)
  • ๒๐ ค้างคาวขุนช้าง (Cheiromeles torquatus)
  • ๒๑ ค้างคาวคุณกิตติ (Craseonycteris thonglongyai)
  • ๒๒ ค้างคาวจมูกหลอดท้องขาว (Murina leucogaster)
  • ๒๓ ค้างคาวจมูกหลอดสีทอง หรือ ค้างคาวจมูกหลอดเล็ก (Murina aurata)
  • ๒๔ ค้างคาวจมูกหลอดสีเทา หรือ ค้างคาวจมูกหลอดแดง (Murina tubinaris)
  • ๒๕ ค้างคาวจมูกหลอดหูยาว (Murina huttonii)
  • ๒๖ ค้างคาวจมูกหลอดหูสั้น (Murina cyclotis)
  • ๒๗ ค้างคาวดอย (Sphaerias blanfordi)
  • ๒๘ ค้างคาวดอยหลังลายขาว (Scotomanes ornatus)
  • ๒๙ ค้างคาวท้องสีน้ำตาลสุราษฎร์ (Eptesicus demissus)
  • ๓๐ ค้างคาวท้องสีน้ำตาลหูหนา (Eptesicus pachyotis)
  • ๓๑ ค้างคาวท้องสีน้ำตาลใหญ่ (Eptesicus serotinus)
  • ๓๒ ค้างคาวปากย่น (Tadarida plicata)
  • ๓๓ ค้างคาวปากย่นใหญ่ หรือ ค้างคาวปากย่นหูหนา (Tadarida teniotis)
  • ๓๔ ค้างคาวปีกขนใต้ (Harpiocephalus harpia)
  • ๓๕ ค้างคาวปีกขนเหนือ (Harpiocephalus mordax)
  • ๓๖ ค้างคาวปีกจุด (Balionycteris maculata)
  • ๓๗ ค้างคาวปีกถุงเคราดำ (Taphozous melanopogon)
  • ๓๘ ค้างคาวปีกถุงต่อมคาง (Taphozous longimanus)
  • ๓๙ ค้างคาวปีกถุงปลอม (Taphozous saccolaimus)
  • ๔๐ ค้างคาวปีกถุงใหญ่ (Taphozous theobaldi)
  • ๔๑ ค้างคาวปีกพับกลาง (Miniopterus fuscus)
  • ๔๒ ค้างคาวปีกพับดำใหญ่ (Miniopterus magnater)
  • ๔๓ ค้างคาวปีกพับเล็ก (Miniopterus pusillus)
  • ๔๔ ค้างคาวปีกพับใหญ่ (Miniopterus schreibersii)
  • ๔๕ ค้างคาวไผ่หัวแบนเล็ก (Tylonycteris pachypus)
  • ๔๖ ค้างคาวไผ่หัวแบนใหญ่ (Tylonycteris robustula)
  • ๔๗ ค้างคาวเพดานเล็ก (Scotophilus kuhlii)
  • ๔๘ ค้างคาวเพดานใหญ่ (Scotophilus heathii)
  • ๔๙ ค้างคาวฟันร่อง (Phoniscus atrox)
  • ๕๐ ค้างคาวฟันหน้าซ้อนเล็ก (Hesperoptenus blandfordi)
  • ๕๑ ค้างคาวฟันหน้าซ้อนใหญ่ (Hesperoptenus tickelli)
  • ๕๒ ค้างคาวมงกุฎจมูกยาวเล็ก (Rhinolophus pearsonii)
  • ๕๓ ค้างคาวมงกุฎจมูกยาวใหญ่ (Rhinolophus yunanensis)
  • ๕๔ ค้างคาวมงกุฎจมูกแหลมเหนือ (Rhinolophus lepidus)
  • ๕๕ ค้างคาวมงกุฎเทาแดง (Rhinolophus affinis)
  • ๕๖ ค้างคาวมงกุฎปลอมเล็ก (Rhinolophus coelophyllus)
  • ๕๗ ค้างคาวมงกุฎปลอมใหญ่ (Rhinolophus shameli)
  • ๕๘ ค้างคาวมงกุฎมลายู (Rhinolophus malayanus)
  • ๕๙ ค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomasi)
  • ๖๐ ค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่ (Rhinolophus acuminatus)
  • ๖๑ ค้างคาวมงกุฎเล็ก (Rhinolophus pusillus)
  • ๖๒ ค้างคาวมงกุฎเลียนมลายูเล็ก (Rhinolophus megaphyllus)
  • ๖๓ ค้างคาวมงกุฎเลียนมลายูหางสั้น (Rhinolophus stheno)
  • ๖๔ ค้างคาวมงกุฎสามใบพัด (Rhinolophus trifoliatus)
  • ๖๕ ค้างคาวมงกุฎหูโตมาร์แชล (Rhinolophus marshalli)
  • ๖๖ ค้างคาวมงกุฎหูโตเล็ก (Rhinolophus macrotis)
  • ๖๗ ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่ (Rhinolophus paradoxolophus)
  • ๖๘ ค้างคาวมงกุฎใหญ่ (Rhinolophus luctus)
  • ๖๙ ค้างคาวมงกุฎอินเดีย (Rhinolophus rouxii)
  • ๗๐ ค้างคาวมือปุ่ม (Glischropus tylopus)
  • ๗๑ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ (Pteropus hypomelanus)
  • ๗๒ ค้างคาวแม่ไก่นครสวรรค์ (Pteropus intermedius)
  • ๗๓ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Pteropus vampyrus)
  • ๗๔ ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง (Pteropus lylei)
  • ๗๕ ค้างคาวยอดกล้วยป่า (Kerivoula whiteheadi)
  • ๗๖ ค้างคาวยอดกล้วยปีกปุ่ม (Kerivoula papillosa)
  • ๗๗ ค้างคาวยอดกล้วยปีกใส (Kerivoula hardwickii)
  • ๗๘ ค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ (Kerivoula picta)
  • ๗๙ ค้างคาวยอดกล้วยเล็ก (Kerivoula minuta)
  • ๘๐ ค้างคาวลูกหนูกรามหน้าบนเล็ก (Pipistrellus cadornae)
  • ๘๑ ค้างคาวลูกหนูจิ๋ว (Pipistrellus tenuis)
  • ๘๒ ค้างคาวลูกหนูถ้ำ (Pipistrellus pulveratus)
  • ๘๓ ค้างคาวลูกหนูบ้าน (Pipistrellus javanicus)
  • ๘๔ ค้างคาวลูกหนูสีทอง หรือ ค้างคาวลูกหนูดำเหลือบ (Pipistrellus circumdatus)
  • ๘๕ ค้างคาวลูกหนูอินเดีย (Pipistrellus coromandra)
  • ๘๖ ค้างคาวเล็บกุด (Eonycteris spelaea)
  • ๘๗ ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก (Megaderma spasma)
  • ๘๘ ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่ (Megaderma lyra)
  • ๘๙ ค้างคาวสามศร (Aselliscus stoliczkanus)
  • ๙๐ ค้างคาวหน้ายักษ์กระบังหน้า (Hipposideros lylei)
  • ๙๑ ค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ (Hipposideros turpis)
  • ๙๒ ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกัณฐ์ (Hipposideros armiger)
  • ๙๓ ค้างคาวหน้ายักษ์เล็ก (Hipposideros pomona)
  • ๙๔ ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กจมูกปุ่ม (Hipposideros halophyllus)
  • ๙๕ ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กดำ หรือ ค้างคาวหน้ายักษ์สีเขม่า (Hipposideros ater)
  • ๙๖ ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กสองสี (Hipposideros bicolor)
  • ๙๗ ค้างคาวหน้ายักษ์สองหลืบ (Hipposideros galeritus)
  • ๙๘ ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (Hipposideros larvatus)
  • ๙๙ ค้างคาวหน้ายักษ์สีจาง (Hipposideros cineraceus)
  • ๑๐๐ ค้างคาวหน้ายักษ์หมอนโค้ง (Hipposideros diadema)
  • ๑๐๑ ค้างคาวหน้ายักษ์หมอบุญส่ง (Hipposideros lekaguli)
  • ๑๐๒ ค้างคาวหน้ายาวเล็ก (Macroglossus minimus)
  • ๑๐๓ ค้างคาวหน้ายาวใหญ่ (Macroglossus sobrinus)
  • ๑๐๔ ค้างคาวหน้าร่อง (Nycteris tragata)
  • ๑๐๕ ค้างคาวหัวดำ (Chironax melanocephalus)
  • ๑๐๖ ค้างคาวหางโผล่ (Emballonura monticola)
  • ๑๐๗ ค้างคาวหางหนู (Rhinopoma microphyllum)
  • ๑๐๘ ค้างคาวหูหนูดอยอ่างขาง (Myotis altarium)
  • ๑๐๙ ค้างคาวหูหนูตีนโตเล็ก (Myotis horsfieldii)
  • ๑๑๐ ค้างคาวหูหนูตีนโตใหญ่ (Myotis hasseltii)
  • ๑๑๑ ค้างคาวหูหนูตีนเล็กเขี้ยวยาว (Myotis muricola)
  • ๑๑๒ ค้างคาวหูหนูตีนเล็กเขี้ยวสั้น (Myotis siligorensis)
  • ๑๑๓ ค้างคาวหูหนูพม่า (Myotis montivagus)
  • ๑๑๔ ค้างคาวหูหนูมือตีนปุ่ม (Myotis rosseti)
  • ๑๑๕ ค้างคาวหูหนูยักษ์ (Myotis chinensis)
  • ๑๑๖ ค้างคาวหูหนูหน้าขน (Myotis annectans)
  • ๑๑๗ ค้างคาวอีอาอีโอ (Ia io)
  • ๑๑๘ ค้างคาวไอ้แหว่ง (Coelops frithii)
  • ๑๑๙ ชะนีดำใหญ่ หรือ ไซแมง (Hylobates syndactylus)
  • ๑๒๐ ชะนีธรรมดา หรือ ชะนีมือขาว (Hylobates lar)
  • ๑๒๑ ชะนีมงกุฎ (Hylobates pileatus)
  • ๑๒๒ ชะนีมือดำ (Hylobates agilis)
  • ๑๒๓ ชะมดเช็ด หรือ ชะมดเชียง (Viverricula indica หรือ Viverricula malaccensis)
  • ๑๒๔ ชะมดน้ำ หรือ อีเห็นน้ำ (Cynogale bennettii)
  • ๑๒๕ ชะมดแผงสันหางดำ (Viverra megaspila)
  • ๑๒๖ ชะมดแผงหางปล้อง (Viverra zibetha)
  • ๑๒๗ ช้าง (Elephas maximus)
  • ๑๒๘ ทราย หรือ เนื้อทราย หรือ ตามะแน (Axis porcinus หรือ Cervus porcinus)
  • ๑๒๙ นากเล็กเล็บสั้น (Aonyx cinerea)
  • ๑๓๐ นากใหญ่ขนเรียบ (Lutra perspicillata)
  • ๑๓๑ นากใหญ่จมูกขน หรือ นากใหญ่หัวปลาดุก (Lutra sumatrana)
  • ๑๓๒ นากใหญ่ธรรมดา (Lutra lutra)
  • ๑๓๓ บ่าง หรือพุจง หรือ พะจง (Cynocephalus variegatus)
  • ๑๓๔ พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor)
  • ๑๓๕ พญากระรอกบินสีดำ (Aeromys tephromelas)
  • ๑๓๖ พญากระรอกบินหูขาว (Petaurista alborufus)
  • ๑๓๗ พญากระรอกบินหูดำ (Petaurista elegans)
  • ๑๓๘ พญากระรอกบินหูแดง (Petaurista petaurista)
  • ๑๓๙ พญากระรอกเหลือง (Ratufa affinis)
  • ๑๔๐ พังพอนกินปู (Herpestes urva)
  • ๑๔๑ พังพอนธรรมดา (Herpestes javanicus)
  • ๑๔๒ เพียงพอนเล็กสีน้ำตาล (Mustela nudipes)
  • ๑๔๓ เพียงพอนเส้นหลังขาว (Mustela strigidorsa)
  • ๑๔๔ เพียงพอนเหลือง (Mustela sibirica)
  • ๑๔๕ เม่นหางพวง หรือ เม่นขนอ่อน หรือ อีแกะ หรือ ม้อก (Atherurus macrourus)
  • ๑๔๖ เม่นใหญ่ (Hystrix brachyura)
  • ๑๔๗ แมวดาว หรือ แมวแกว (Felis bengalensis)
  • ๑๔๘ แมวป่า หรือ เสือกระต่าย (Felis chaus)
  • ๑๔๙ แมวป่าหัวแบน (Felis planiceps)
  • ๑๕๐ ลิงกัง (Macaca nemestrina)
  • ๑๕๑ ลิงลม หรือ นางอาย (Nycticebus coucang)
  • ๑๕๒ ลิงวอก (Macaca mulatta)
  • ๑๕๓ ลิงเสน (Macaca arctoides)
  • ๑๕๔ ลิงแสม (Macaca fascicularis)
  • ๑๕๕ ลิงอ้ายเงี้ยะ หรือ ลิงอัสสัม หรือ ลิงภูเขา (Macaca assamensis)
  • ๑๕๖ ลิ่นพันธุ์จีน (Manis pentadactyla)
  • ๑๕๗ ลิ่นพันธุ์มลายู หรือ ลิ่นชวา (Manis javanica)
  • ๑๕๘ โลมากระโดด (Stenella longirostris)
  • ๑๕๙ โลมาแถบ (Stenella coeruleoalba)
  • ๑๖๐ โลมาธรรมดา (Delphinus delphis)
  • ๑๖๑ โลมาปากขวด (Tursiops aduncus)
  • ๑๖๒ โลมาฟราเซอร์ (Lagenodelphis hosei)
  • ๑๖๓ โลมาฟันห่าง (Steno bredanensis)
  • ๑๖๔ โลมาลายจุด (Stenella attenuata)
  • ๑๖๕ โลมาหลังโหนก (Sousa chinensis)
  • ๑๖๖ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Neophocaena phocaenoides)
  • ๑๖๗ โลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris)
  • ๑๖๘ วาฬคูเวียร์ (Ziphius carvirostris)
  • ๑๖๙ วาฬนำร่องครีบสั้น (Globicephala macrorhynchus)
  • ๑๗๐ วาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni)
  • ๑๗๑ วาฬเพชรฆาต (Orcinus orca)
  • ๑๗๒ วาฬเพชรฆาตดำ (Pseudorca crassidens)
  • ๑๗๓ วาฬเพชรฆาตเล็ก (Feresa attenuata)
  • ๑๗๔ วาฬฟันสองซี่ (Mesoplodon ginkgodens)
  • ๑๗๕ วาฬฟิน (Balaenoptera physaius)
  • ๑๗๖ วาฬหัวแตงโม (Peponocephala electra)
  • ๑๗๗ วาฬหัวทุย (Physeter macrocepalus)
  • ๑๗๘ วาฬหัวทุยแคระ (Kogia simus)
  • ๑๗๙ วาฬหัวทุยเล็ก (Kogia breviceps)
  • ๑๘๐ วัวแดง หรือ วัวดำ หรือ วัวเพลาะ (Bos javanicus)
  • ๑๘๑ เสือโคร่ง (Panthera tigris)
  • ๑๘๒ เสือดาว หรือ เสือดำ (Panthera pardus)
  • ๑๘๓ เสือปลา (Felis viverrina)
  • ๑๘๔ เสือไฟ (Felis temminckii)
  • ๑๘๕ เสือลายเมฆ (Neofelis nebulosa)
  • ๑๘๖ หนูเกาะ (Rattus remotus)
  • ๑๘๗ หนูขนเสี้ยนเขาหินปูน (Niviventer hinpoon)
  • ๑๘๘ หนูถ้ำ (Leopoldamys neilli)
  • ๑๘๙ หนูไผ่เล็บแม่มือแบน (Hapalomys longicaudatus)
  • ๑๙๐ หมาจิ้งจอก (Canis aureus)
  • ๑๙๑ หมาใน หรือ หมาแดง (Cuon alpinus)
  • ๑๙๒ หมาไม้ (Martes flavigula)
  • ๑๙๓ หมาหริ่ง (Melogale personata)
  • ๑๙๔ หมีขอ หรือ บินตุรง (Arctictis binturong)
  • ๑๙๕ หมีควาย หรือ หมีดำ (Ursus thibetanus)
  • ๑๙๖ หมีหมา หรือ หมีคน (Ursus malayanus)
  • ๑๙๗ หมูหริ่ง (Arctonyx collaris)
  • ๑๙๘ อีเก้ง หรือ เก้ง หรือ ฟาน (Muntiacus muntjak)
  • ๑๙๙ อีเห็นลายเมฆ หรือ ชะมดแปลงลายแถบ (Prionodon linsang)
  • ๒๐๐ อีเห็นลายเสือ หรือ ชะมดแปลงลายจุด (Prionodon pardicolor)
  • ๒๐๑ อีเห็นลายเสือโคร่ง หรือ อีเห็นลายพาด (Hemigalus derbyanus)

นก

  • ๑ ไก่จุก (Rollulus rouloul )
  • ๒ ไก่นวล (Rhizothera longirostris )
  • ๓ ไก่ป่า (Gallus gallus)
  • ๔ ไก่ฟ้าพญาลอ (Lophura diardi )
  • ๕ ไก่ฟ้าหน้าเขียว (Lophura ignita)
  • ๖ ไก่ฟ้าหลังขาว (Lophura nycthemera)
  • ๗ ไก่ฟ้าหลังเทา (Lophura leucomelanos หรือ Lophura leucomelana)
  • ๘ ไก่ฟ้าหางลายขวาง (Syrmaticus humiae )
  • ๙ นกกก หรือ นกกาฮัง หรือ นกกะวะ (Buceros bicornis)
  • ๑๐ นกกระจอกตาล (Passer flaveolus)
  • ๑๑ นกกระจอกป่าท้องเหลือง (Passer rutilans)
  • ๑๒ นกกระจอกใหญ่ (Passer domesticus)
  • ๑๓ นกกระจ้อยแก้มสีเทา (Seicercus poliogenys)
  • ๑๔ นกกระจ้อยเขาสูง (Bradypterus mandelli หรือ Bradypterus seebohmi)
  • ๑๕ นกกระจ้อยคอขาว (Abroscopus superciliaris)
  • ๑๖ นกกระจ้อยคอดำ (Abroscopus albogularis)
  • ๑๗ นกกระจ้อยนักร้อง (Cettia canturians )
  • ๑๘ นกกระจ้อยป่าโกงกาง (Gerygone suphurea)
  • ๑๙ นกกระจ้อยพันธุ์จีน (Bradypterus tacsanowskius)
  • ๒๐ นกกระจ้อยวงตาสีทอง (Seicercus tephrocephalus หรือ Seicercus burkii)
  • ๒๑ นกกระจ้อยหางสีเรียบ (Seicercus soror)
  • ๒๒ นกกระจ้อยแถบปีกเหลือง (Seicercus valentini)
  • ๒๓ นกกระจ้อยสีน้ำตาล (Bradypterus luteoventris)
  • ๒๔ นกกระจ้อยสีไพล (Cettia pallidipes)
  • ๒๕ นกกระจ้อยหัวลาย (Urosphena squameiceps หรือ Cettia squameiceps)
  • ๒๖ นกกระจ้อยเหลืองไพล (Cettia flavolivacea )
  • ๒๗ นกกระจ้อยใหญ่ (Cettia major )
  • ๒๘ นกกระจ้อยอกเทา (Bradypterus davidi หรือ Bradypterus thoracicus)
  • ๒๙ นกกระจาบทอง (Ploceus hypoxanthus )
  • ๓๐ นกกระจาบธรรมดา (Ploceus philippinus)
  • ๓๑ นกกระจาบอกลาย (Ploceus manyar )
  • ๓๒ นกกระจิ๊ดขั้วโลกเหนือ (Phylloscopus borealis)
  • ๓๓ นกกระจิ๊ดขาสีเนื้อ (Phylloscopus tenellipes)
  • ๓๔ นกกระจิ๊ดเขียวคลํ้ า (Phylloscopus trochiloides )
  • ๓๕ นกกระจิ๊ดเขียวปีกสองแถบ (Phylloscopus plumbeitarsus)
  • ๓๖ นกกระจิ๊ดคอสีเทา (Phylloscopus maculipennis )
  • ๓๗ นกกระจิ๊ดคิ้วดำท้องขาว (Phylloscopus cantator)
  • ๓๘ นกกระจิ๊ดคิ้วดำท้องเหลือง (Phylloscopus ricketti)
  • ๓๙ นกกระจิ๊ดตะโพกเหลือง (Phylloscopus proregulus)
  • ๔๐ นกกระจิ๊ดแถบปีกสีส้ม (Phylloscopus pulcher)
  • ๔๑ นกกระจิ๊ดท้องสีน้ำตาล (Phylloscopus subaffinis)
  • ๔๒ นกกระจิ๊ดธรรมดา (Phylloscopus inornatus)
  • ๔๓ นกกระจิ๊ดปากหนา (Phylloscopus schwarzi)
  • ๔๔ นกกระจิ๊ดพันธุ์หิมาลัย (Phylloscopus humei)
  • ๔๕ นกกระจิ๊ดพันธุ์จีน (Phylloscopus sichuanensis)
  • ๔๖ นกกระจิ๊ดสีคล้ำ (Phylloscopus fuscatus)
  • ๔๗ นกกระจิ๊ดหัวมงกุฎ (Phylloscopus coronatus)
  • ๔๘ นกกระจิ๊ดหางขาวเล็ก (Phylloscopus davisoni )
  • ๔๙ นกกระจิ๊ดหางขาวใหญ่ (Phylloscopus reguloides)
  • ๕๐ นกกระจิ๊ดอกลายเหลือง (Phylloscopus armandii)
  • ๕๑ นกกระจิบกระหม่อมแดง (Orthotomus sericeus)
  • ๕๒ นกกระจิบคอดำ (Orthotomus atrogularis)
  • ๕๓ นกกระจิบธรรมดา (Orthotomus sutorius)
  • ๕๔ นกกระจิบภูเขา (Orthotomus cuculatus)
  • ๕๕ นกกระจิบหญ้าคิ้วขาว (Prinia atrogularis)
  • ๕๖ นกกระจิบหญ้าท้องเหลือง (Prinia flaviventris)
  • ๕๗ นกกระจิบหญ้าสีข้างแดง (Prinia rufescens)
  • ๕๘ นกกระจิบหญ้าสีน้ำตาล (Prinia polychroa)
  • ๕๙ นกกระจิบหญ้าสีเรียบ (Prinia inornata)
  • ๖๐ นกกระจิบหญ้าอกเทา (Prinia hodgsonii)
  • ๖๑ นกกระจิบหัวแดง (Orthotomus ruficeps หรือ Orthotomus sepium)
  • ๖๒ นกกระติ๊ดขี้หมู (Lonchura punctulata)
  • ๖๓ นกกระติ๊ดเขียวหรือนกไผ่ (Erythrura prasina)
  • ๖๔ นกกระติ๊ดแดง (Amandava amandava)
  • ๖๕ นกกระติ๊ดตะโพกขาว (Lonchura striata)
  • ๖๖ นกกระติ๊ดท้องขาว (Lonchura leucogastra)
  • ๖๗ นกกระติ๊ดสีอิฐ หรือ นกปากตะกั่ว (Lonchura malacca)
  • ๖๘ นกกระติ๊ดหัวขาว (Lonchura maja)
  • ๖๙ นกกระติ๊ดใหญ่ปากเหลือง (Eophona migratoria)
  • ๗๐ นกกระติ๊ดใหญ่ปีกลาย (Mycerobas melanozanthos)
  • ๗๑ นกกระติ๊ดใหญ่สร้อยคอเหลือง (Mycerobas affinis)
  • ๗๒ นกกระเต็นขาวดำใหญ่ หรือนกกะเต็นขาวดำใหญ่ (Megaceryle lugubris)
  • ๗๓ นกกระเต็นแดง หรือ นกกะเต็นแดง (Halcyon coromanda)
  • ๗๔ นกกระเต็นน้อยแถบอกดำ หรือ นกกะเต็นน้อยแถบอกดำ (Alcedo euryzona)
  • ๗๕ นกกระเต็นน้อยธรรมดา หรือ นกกะเต็นน้อยธรรมดา (Alcedo atthis)
  • ๗๖ นกกระเต็นน้อยหลังดำ หรือ นกกะเต็นน้อยหลังดำ (Ceyx erithacus)
  • ๗๗ นกกระเต็นน้อยหลังแดง หรือ นกกะเต็นน้อยหลังแดง (Ceyx rufidorsus)
  • ๗๘ นกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน หรือ นกกะเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน (Alcedo meninting)
  • ๗๙ นกกระเต็นปักหลัก หรือ นกกะเต็นปักหลัก (Ceryle rudis)
  • ๘๐ นกกระเต็นลาย หรือ นกกะเต็นลาย (Lacedo pulchella)
  • ๘๑ นกกระเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล หรือ นกกะเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล (Actenoides concretus)
  • ๘๒ นกกระเต็นหัวดำ หรือ นกกะเต็นหัวดำ (Halcyon pileata)
  • ๘๓ นกกระเต็นใหญ่ธรรมดา หรือ นกกะเต็นใหญ่ธรรมดา (Halcyon capensis)
  • ๘๔ นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล หรือ นกกะเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล (Halcyon amauroptera)
  • ๘๕ นกกระเต็นอกขาว หรือ นกกะเต็นอกขาว (Halcyon smyrnensis)
  • ๘๖ นกกระเต็นเฮอคิวลิส หรือ นกกะเต็นเฮอคิวลิส (Alcedo hercules)
  • ๘๗ นกกระแตแต้แว๊ด หรือ นกต้อยตีวิด (Vanellus indicus)
  • ๘๘ นกกระแตผีชายหาด (Esacus magnirostris หรือ Esacus neglectus)
  • ๘๙ นกกระแตผีเล็ก (Burhinus oedicnemus)
  • ๙๐ นกกระแตผีใหญ่ (Esacus recurvirostris)
  • ๙๑ นกกระแตหงอน (Vanellus vanellus)
  • ๙๒ นกกระแตหัวเทา (Vanellus cinereus)
  • ๙๓ นกกระแตหาด (Vanellus duvaucelii)
  • ๙๔ นกกระทาดงแข้งเขียว (Arborophila chloropus)
  • ๙๕ นกกระทาดงคอสีแสด (Arborophila rufogularis)
  • ๙๖ นกกระทาดงจันทบูรณ์ (Arborophila diversa หรือ Arborophila cambodiana)
  • ๙๗ นกกระทาดงปักษ์ใต้ (Arborophila charltonii)
  • ๙๘ นกกระทาดงอกสีน้ำตาล (Arborophila brunneopectus)
  • ๙๙ นกกระทาทุ่ง (Francolinus pintadeanus)
  • ๑๐๐ นกกระทาป่าไผ่ (Bambusicola fytchii)
  • ๑๐๑ นกกระทาสองเดือย หรือ นกกรองกร๊อย (Caloperdix oculea)
  • ๑๐๒ นกกระทุง (Pelecanus philippensis)
  • ๑๐๓ นกกระเบื้องคอขาว (Monticola gularis)
  • ๑๐๔ นกกระเบื้องท้องแดง (Monticola rufiventris)
  • ๑๐๕ นกกระเบื้องผา (Monticola solitarius)
  • ๑๐๖ นกกระปูดนิ้วสั้น (Centropus rectunguis)
  • ๑๐๗ นกกระปูดเล็ก (Centropus bengalensis)
  • ๑๐๘ นกกระปูดใหญ่ (Centropus sinensis)
  • ๑๐๙ นกกระสาขาว (Ciconia ciconia)
  • ๑๑๐ นกกระสาคอขาว (Ciconia episcopus)
  • ๑๑๑ นกกระสาคอขาวปากแดง (Ciconia stormi)
  • ๑๑๒ นกกระสาคอดำ (Ephippiorhynchus asiaticus)
  • ๑๑๓ นกกระสาดำ (Ciconia nigra)
  • ๑๑๔ นกกระสาแดง (Ardea purpurea)
  • ๑๑๕ นกกระสานวล (Ardea cinerea)
  • ๑๑๖ นกกระสาปากเหลือง (Mycteria cinerea)
  • ๑๑๗ นกกระสาใหญ่ (Ardea sumatrana)
  • ๑๑๘ นกกรีดน้ำ (Rynchops albicollis)
  • ๑๑๙ นกกวัก (Amaurornis phoenicurus)
  • ๑๒๐ นกกะรองทองแก้มขาว (Leiothrix argentauris)
  • ๑๒๑ นกกะรางแก้มแดง (Liocichla phoenicea)
  • ๑๒๒ นกกะรางคอดำ หรือ นกซอฮู้ (Garrulax chinensis)
  • ๑๒๓ นกกะรางคิ้วขาว (Garrulax sannio)
  • ๑๒๔ นกกะรางดำ (Garrulax lugubris)
  • ๑๒๕ นกกะรางวงตาขาว หรือ นกกะรางกระหม่อมแดง (Garrulax mitratus)
  • ๑๒๖ นกกะรางสร้อยคอเล็ก (Garrulax monileger)
  • ๑๒๗ นกกะรางสร้อยคอใหญ่ (Garrulax pectoralis)
  • ๑๒๘ นกกะรางหัวขวาน (Upupa epops)
  • ๑๒๙ นกกะรางหัวแดง (Garrulax erythrocephalus)
  • ๑๓๐ นกกะรางหัวหงอก (Garrulax leucolophus)
  • ๑๓๑ นกกะรางหางแดง (Garrulax milnei)
  • ๑๓๒ นกกะรางอกลาย (Garrulax merulinus)
  • ๑๓๓ นกกะรางอกสีน้ำตาลไหม้ (Garrulax strepitans)
  • ๑๓๔ นกกะลิง หรือ นกกะแล (Psittacula finschii)
  • ๑๓๕ นกกะลิงเขียด (Dendrocitta vagabunda)
  • ๑๓๖ นกกะลิงเขียดสีเทา (Dendrocitta formosae)
  • ๑๓๗ นกกะลิงเขียดหางหนาม (Temnurus temnurus)
  • ๑๓๘ นกกางเขนดง หรือ นกบินหลาดง หรือ นกบินหลาควน หรือ นกจิงปุ๊ย (Copsychus malabaricus)
  • ๑๓๙ นกกางเขนดงหางแดง (Trichixos pyrropyga หรือ Copsychus pyrropygus)
  • ๑๔๐ นกกางเขนน้ำดำหลังแดง (Enicurus ruficapillus)
  • ๑๔๑ นกกางเขนน้ำหลังดำ (Enicurus immaculatus)
  • ๑๔๒ นกกางเขนน้ำหลังเทา (Enicurus schistaceus)
  • ๑๔๓ นกกางเขนน้ำหัวขาว (Enicurus leschenaulti)
  • ๑๔๔ นกกางเขนบ้าน หรือ นกบินหลาบ้าน หรือ นกอีแจ้บ หรือนกจีจู๊ (Copsychus saularis)
  • ๑๔๕ นกกาน้อยแถบปีกขาว (Platysmurus leucopterus)
  • ๑๔๖ นกกาน้อยหงอนยาว (Platylophus galericulatus)
  • ๑๔๗ นกกาน้ำปากยาว (Phalacrocorax fuscicollis)
  • ๑๔๘ นกกาน้ำเล็ก (Phalacrocorax niger)
  • ๑๔๙ นกกาน้ำใหญ่ (Phalacrocorax carbo)
  • ๑๕๐ นกกาบบัว (Mycteria leucocephala)
  • ๑๕๑ นกกาฝากก้นเหลือง (Dicaeum chrysorrheum)
  • ๑๕๒ นกกาฝากท้องสีส้ม (Dicaeum trigonostigma)
  • ๑๕๓ นกกาฝากท้องเหลือง (Dicaeum melanoxanthum)
  • ๑๕๔ นกกาฝากปากหนา (Dicaeum agile)
  • ๑๕๕ นกกาฝากสีเรียบ (Dicaeum concolor)
  • ๑๕๖ นกกาฝากอกแดง (Prionochilus thoracicus)
  • ๑๕๗ นกกาฝากอกเพลิง (Dicaeum ignipectus)
  • ๑๕๘ นกกาฝากอกเหลือง (Prionochilus maculatus)
  • ๑๕๙ นกกาฝากอกสีเลือดหมู (Prionochilus percussus)
  • ๑๖๐ นกกาฝากอกสีเนื้อ (Dicaeum ignipectus cambodianum)
  • ๑๖๑ นกกาแวน (Crypsirina temia)
  • ๑๖๒ นกกาเหว่า หรือ นกดุเหว่า (Eudynamys scolopacea)
  • ๑๖๓ นกกิ้งโครงแก้มขาว (Sturnus cineraceus)
  • ๑๖๔ นกกิ้งโครงแกลบปีกขาว (Sturnia sinensis หรือ Sturnus sinensis)
  • ๑๖๕ นกกิ้งโครงแกลบหลังม่วงดำ (Sturnia sturnina หรือ Sturnus sturninus)
  • ๑๖๖ นกกิ้งโครงแกลบหัวเทา (Sturnia malabarica หรือ Sturnus malabaricus)
  • ๑๖๗ นกกิ้งโครงคอดำ (Gracupica nigricollis หรือ Sturnus nigricollis)
  • ๑๖๘ นกกิ้งโครงปีกลายจุด (Saroglossa spiloptera)
  • ๑๖๙ นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป (Sturnus vulgaris)
  • ๑๗๐ นกกิ้งโครงสีกุหลาบ (Pastor roseus หรือ Sturnus roseus)
  • ๑๗๑ นกกิ้งโครงหัวสีนวล (Acridotheres burmannicus หรือ Sturnus burmannicus)
  • ๑๗๒ นกกินปลีแก้มสีทับทิม (Anthreptes singalensis)
  • ๑๗๓ นกกินปลีคอแดง (Aethopyga siparaja)
  • ๑๗๔ นกกินปลีคอม่วง (Nectarinia sperata)
  • ๑๗๕ นกกินปลีคอสีทองแดง (Nectarinia calcostetha)
  • ๑๗๖ นกกินปลีคอสีน้ำตาล (Anthreptes malacensis)
  • ๑๗๗ นกกินปลีคอสีน้ำตาลแดง (Anthreptes rhodolaema)
  • ๑๗๘ นกกินปลีดำม่วง (Nectarinia asiatica)
  • ๑๗๙ นกกินปลีแดง (Aethopyga temminckii)
  • ๑๘๐ นกกินปลีแดงหัวไพลิน (Aethopyga ignicauda)
  • ๑๘๑ นกกินปลีท้ายทอยสีน้ำเงิน (Hypogramma hypogrammicum)
  • ๑๘๒ นกกินปลีสีเรียบ (Anthreptes simplex)
  • ๑๘๓ นกกินปลีหางยาวเขียว (Aethopyga nipalensis)
  • ๑๘๔ นกกินปลีหางยาวคอดำ (Aethopyga saturata)
  • ๑๘๕ นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า (Aethopyga gouldiae)
  • ๑๘๖ นกกินปลีอกเหลือง (Nectarinia jugularis)
  • ๑๘๗ นกกินเปี้ยว (Todiramphus chloris หรือ Halcyon chloris)
  • ๑๘๘ นกกินแมลงกระหม่อมแดง (Timalia pileata)
  • ๑๘๙ นกกินแมลงคอดำ (Stachyris nigricollis)
  • ๑๙๐ นกกินแมลงคอเทา (Stachyris nigriceps)
  • ๑๙๑ นกกินแมลงคอลาย (Stachyris striolata)
  • ๑๙๒ นกกินแมลงเด็กแนน (Stachyris rodolphei)
  • ๑๙๓ นกกินแมลงตะโพกแดง (Stachyris maculata)
  • ๑๙๔ นกกินแมลงตาขาว (Stachyris poliocephala)
  • ๑๙๕ นกกินแมลงตาเหลือง (Chrysomma sinense)
  • ๑๙๖ นกกินแมลงปากหนา (Malacocincla sepiarium หรือ Trichastoma sepiarium)
  • ๑๙๗ นกกินแมลงป่าโกงกาง (Trichastoma rostratum)
  • ๑๙๘ นกกินแมลงป่าฝน หรือ นกกินแมลงป่าดิบ (Malacocincl abbotti หรือ Trichastoma abbotti)
  • ๑๙๙ นกกินแมลงป่าสีน้ำตาลแดง (Trichastoma bicolor)
  • ๒๐๐ นกกินแมลงป่าหางสั้น (Malacocincla malaccense หรือ Trichastoma malaccensis)
  • ๒๐๑ นกกินแมลงป่าอกสีน้ำตาล (Trichastoma tickelli)
  • ๒๐๒ นกกินแมลงปีกแดง (Stachyris erythroptera)
  • ๒๐๓ นกกินแมลงหน้าผากน้ำตาล (Stachyris rufifrons)
  • ๒๐๔ นกกินแมลงหลังฟู (Macronous ptilosus)
  • ๒๐๕ นกกินแมลงหัวแดงเล็ก (Malacopteron cinereum)
  • ๒๐๖ นกกินแมลงหัวแดงใหญ่ (Malacopteron magnum)
  • ๒๐๗ นกกินแมลงหัวสีคล้ำ (Malacopteron affine)
  • ๒๐๘ นกกินแมลงหัวสีทอง (Stachyris chrysaea)
  • ๒๐๙ นกกินแมลงหัวสีน้ำตาล (Malacopteron magnirostre)
  • ๒๑๐ นกกินแมลงหูขาว (Stachyris leucotis)
  • ๒๑๑ นกกินแมลงอกเหลือง (Macronous gularis)
  • ๒๑๒ นกแก๊ก หรือ นกแกง (Anthracoceros albirostris)
  • ๒๑๓ นกแก้วโม่ง (Psittacula eupatria)
  • ๒๑๔ นกแก้วหัวแพร (Psittacula roseata)
  • ๒๑๕ นกโกงกางหัวโต (Pachycephala grisola)
  • ๒๑๖ นกโกโรโกโส (Carpococcyx renauldi)
  • ๒๑๗ นกขมิ้นขาว (Oriolus mellianus)
  • ๒๑๘ นกขมิ้นแดง (Oriolus traillii)
  • ๒๑๙ นกขมิ้นท้ายทอยดำ (Oriolus chinensis)
  • ๒๒๐ นกขมิ้นน้อยธรรมดา หรือ นกขมิ้นสวน (Aegithina tiphia)
  • ๒๒๑ นกขมิ้นน้อยปีกสีเรียบ (Aegithina lafresnayei)
  • ๒๒๒ นกขมิ้นน้อยสีเขียว (Aegithina viridissima)
  • ๒๒๓ นกขมิ้นปากเรียว (Oriolus tenuirostris)
  • ๒๒๔ นกขมิ้นหัวดำเล็ก (Oriolus xanthonotus)
  • ๒๒๕ นกขมิ้นหัวดำใหญ่ (Oriolus xanthornus)
  • ๒๒๖ นกขัติยา (Cutia nipalensis)
  • ๒๒๗ นกขี้เถ้าพันธุ์ชวา (Coracina javensis)
  • ๒๒๘ นกขี้เถ้าลายขวาง (Coracina striata)
  • ๒๒๙ นกขี้เถ้าใหญ่ (Coracina macei)
  • ๒๓๐ นกขุนทอง (Gracula religiosa)
  • ๒๓๑ นกขุนแผน (Urocissa erythrorhyncha)
  • ๒๓๒ นกขุนแผนตะโพกแดง (Harpactes duvaucelii)
  • ๒๓๓ นกขุนแผนตะโพกสีน้ำตาล (Harpactes orrhophaeus)
  • ๒๓๔ นกขุนแแผนท้ายทอยแดง (Harpactes kasumba)
  • ๒๓๕ นกขุนแผนหัวดำ (Harpactes diardii)
  • ๒๓๖ นกขุนแผนหัวแดง (Harpactes erythrocephalus)
  • ๒๓๗ นกขุนแผนอกสีส้ม (Harpactes oreskios)
  • ๒๓๘ นกเขนท้องแดง (Phoenicurus auroreus)
  • ๒๓๙ นกเขนเทาหางแดง (Rhyacornis fuliginosus)
  • ๒๔๐ นกเขนน้อยข้างสีส้ม (Tarsiger cyanurus)
  • ๒๔๑ นกเขนน้อยคิ้วขาว (Lalage nigra)
  • ๒๔๒ นกเขนน้อยไซบีเรีย (Luscinia cyane)
  • ๒๔๓ นกเขนน้อยปีกดำ (Hemipus hirundinaceus)
  • ๒๔๔ นกเขนน้อยปีกแถบขาว (Hemipus picatus)
  • ๒๔๕ นกเขนน้อยพันธุ์ญี่ปุ่น (Erithacus akahige)
  • ๒๔๖ นกเขนน้อยสีทอง (Tarsiger chrysaeus)
  • ๒๔๗ นกเขนน้อยหัวดำ (Luscinia obscura)
  • ๒๔๘ นกเขนน้อยหางแดง (Luscinia sibilans)
  • ๒๔๙ นกเขนน้ำเงิน (Cinclidium frontale)
  • ๒๕๐ นกเขนแปลง (Hodgsonius phaenicuroides)
  • ๒๕๑ นกเขนสีฟ้าท้ายสีน้ำตาล (Phoenicurus frontalis)
  • ๒๕๒ นกเขนสีฟ้าหางขาว (Cinclidium leucurum)
  • ๒๕๓ นกเขนหัวขาวท้ายแดง (Chaimarrornis leucocephalus)
  • ๒๕๔ นกเขาเขียว (Chalcophaps indica)
  • ๒๕๕ นกเขาเปล้าธรรมดา (Treron curvirostra)
  • ๒๕๖ นกเขาพม่า (Streptopelia orientalis)
  • ๒๕๗ นกเขาไฟ (Streptopelia tranquebarica)
  • ๒๕๘ นกเขาลายเล็ก (Macropygia ruficeps)
  • ๒๕๙ นกเขาลายใหญ่ (Macropygia unchall)
  • ๒๖๐ นกเขียวก้านตองท้องสีส้ม (Chloropsis hardwickii)
  • ๒๖๑ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (Chloropsis cochinchinensis)
  • ๒๖๒ นกเขียวก้านตองเล็ก (Chloropsis cyanopogon)
  • ๒๖๓ นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง (Chloropsis aurifrons)
  • ๒๖๔ นกเขียวก้านตองใหญ่ (Chloropsis sonnerati)
  • ๒๖๕ นกเขียวคราม (Irena puella)
  • ๒๖๖ นกเขียวปากงุ้ม (Calyptomena viridis)
  • ๒๖๗ นกแขกเต้า (Psittacula alexandri)
  • ๒๖๘ นกแขวก (Nycticorax nycticorax)
  • ๒๖๙ นกคอขาวน้อย (Sylvia curruca)
  • ๒๗๐ นกคอทับทิม (Luscinia calliope)
  • ๒๗๑ นกคอทับทิมอกดำ (Luscinia pectoralis)
  • ๒๗๒ นกคอพัน (Jynx torquilla)
  • ๒๗๓ นกคอมรกต (Luscinia svecica)
  • ๒๗๔ นกคอสั้นตีนไว (Calidris alba)
  • ๒๗๕ นกคอสามสี (Eupetes macrocerus)
  • ๒๗๖ นกคัคคูแซงแซว (Surniculus lugubris)
  • ๒๗๗ นกคัคคูด่าง (Clamator jacobinus)
  • ๒๗๘ นกคัคคูพันธุ์ยุโรป (Cuculus canorus)
  • ๒๗๙ นกคัคคูพันธุ์หิมาลัย (Cuculus saturatus)
  • ๒๘๐ นกคัคคูพันธุ์อินเดีย (Cuculus micropterus)
  • ๒๘๑ นกคัคคูมรกต (Chrysococcyx maculatus)
  • ๒๘๒ นกคัคคูลาย (Cacomantis sonneratii)
  • ๒๘๓ นกคัคคูเล็ก (Cuculus poliocephalus)
  • ๒๘๔ นกคัคคูสีทองแดง (Chrysococcyx minutillus)
  • ๒๘๕ นกคัคคูสีม่วง (Chrysococcyx xanthorhynchus)
  • ๒๘๖ นกคัคคูหงอน (Clamator coromandus)
  • ๒๘๗ นกคัคคูหางแพน (Cacomantis sepulcralis)
  • ๒๘๘ นกคัคคูเหยี่ยวพันธุ์อินเดีย (Cuculus varius)
  • ๒๘๙ นกคัคคูเหยี่ยวเล็ก (Cuculus vagans)
  • ๒๙๐ นกคัคคูเหยี่ยวใหญ่ (Cuculus sparverioides)
  • ๒๙๑ นกคัคคูเหยี่ยวอกแดง (Cuculus fugax)
  • ๒๙๒ นกคิตติเวคขาดำ (Rissa tridactyla)
  • ๒๙๓ นกคุ่มสี (Coturnix chinensis)
  • ๒๙๔ นกคุ่มอกดำ (Coturnix coromandelica)
  • ๒๙๕ นกคุ่มอกลาย (Turnix suscitator)
  • ๒๙๖ นกคุ่มอืดเล็ก (Turnix sylvatica)
  • ๒๙๗ นกคุ่มอืดใหญ่ (Turnix tanki)
  • ๒๙๘ นกคู๊ท (Fulica atra)
  • ๒๙๙ นกเค้าแคระ (Glaucidium brodiei)
  • ๓๐๐ นกเค้าจุด (Athene brama)
  • ๓๐๑ นกเค้าแดง (Otus rufescens)
  • ๓๐๒ นกเค้าป่าสีน้ำตาล (Strix leptogrammica)
  • ๓๐๓ นกเค้าป่าหลังจุด (Strix seloputo)
  • ๓๐๔ นกเค้าภูเขา (Otus spilocephalus)
  • ๓๐๕ นกเค้าแมวหูสั้น (Asio flammeus)
  • ๓๐๖ นกเค้าโมง หรือ นกเค้าแมว (Glaucidium cuculoides)
  • ๓๐๗ นกเค้าหน้าผากขาว (Otus sagittatus)
  • ๓๐๘ นกเค้าหูยาวเล็ก (Otus sunia)
  • ๓๐๙ นกเค้าเหยี่ยว (Ninox scutulata)
  • ๓๑๐ นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล (Bubo nipalensi)
  • ๓๑๑ นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา (Bubo sumatranus)
  • ๓๑๒ นกเค้าใหญ่สีคล้ำ (Bubo coromandus)
  • ๓๑๓ นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู๋กี๋ (Aceros undulatus หรือ Rhyticeros undulatus)
  • ๓๑๔ นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Aceros subruficollis หรือ Rhyticeros subruficollis)
  • ๓๑๕ นกเงือกคอแดง (Aceros nipalensis)
  • ๓๑๖ นกเงือกดำ (Anthracoceros malayanus)
  • ๓๑๗ นกเงือกปากดำ หรือ นกกาเขา (Anorrhinus galeritus)
  • ๓๑๘ นกเงือกปากย่น (Rhyticeros corrugatus)
  • ๓๑๙ นกเงือกสีน้ำตาล (Anorrhinus tickelli หรือ Ptilolaemus tickelli)
  • ๓๒๐ นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (Anorrhinus austeni หรือ Ptilolaemus austeni)
  • ๓๒๑ นกเงือกหัวแรด (Buceros rhinoceros)
  • ๓๒๒ นกเงือกหัวหงอก (Aceros comatus หรือ Berenicornis comatus)
  • ๓๒๓ นกจมูกหลอดลาย (Calonectris leucomelas)
  • ๓๒๔ นกจมูกหลอดหางสั้น (Puffinus tenuirostris)
  • ๓๒๕ นกจอกป่าหัวโต (Calorhamphus fuliginosus)
  • ๓๒๖ นกจับแมลงคอขาวหน้าแดง (Ficedula solitaris)
  • ๓๒๗ นกจับแมลงคอแดง (Ficedula parva)
  • ๓๒๘ นกจับแมลงคอน้ำตาลแดง (Cyornis banyumas)
  • ๓๒๙ นกจับแมลงคอสีน้ำเงินเข้ม (Cyornis rubeculoides)
  • ๓๓๐ นกจับแมลงคิ้วเหลือง (Ficedula narcissina)
  • ๓๓๑ นกจับแมลงจุกดำ (Hypothymis azurea)
  • ๓๓๒ นกจับแมลงดำอกสีส้ม (Ficedula mugimaki)
  • ๓๓๓ นกจับแมลงตะโพกเหลือง (Ficedula zanthopygia)
  • ๓๓๔ นกจับแมลงพันธุ์จีน (Cyornis rubeculoides)
  • ๓๓๕ นกจับแมลงแถบคอสีส้ม (Ficedula strophiata)
  • ๓๓๖ นกจับแมลงท้องลาย (Muscicapa griseisticta)
  • ๓๓๗ นกจับแมลงป่าชายเลน หรือ นกจับแมลงป่าโกงกาง (Cyornis rufigastra)
  • ๓๓๘ นกจับแมลงป่าพรุ หรือ นกจับแมลงคอสีฟ้าสด (Cyornis turcosa)
  • ๓๓๙ นกจับแมลงปีกน้ำตาลแดง (Philentoma pyrhopterum)
  • ๓๔๐ นกจับแมลงเล็กขาวดำ (Ficedula westermanni)
  • ๓๔๑ นกจับแมลงสร้อยคอขาว (Ficedula monileger)
  • ๓๔๒ นกจับแมลงสีคราม (Ficedula superciliaris)
  • ๓๔๓ นกจับแมลงสีคล้ำ (Muscicapa sibirica)
  • ๓๔๔ นกจับแมลงสีคล้ำหางแถบขาว (Cyornis concreta)
  • ๓๔๕ นกจับแมลงสีน้ำตาล (Muscicapa dauurica)
  • ๓๔๖ นกจับแมลงสีน้ำตาลแดง (Muscicapa ferruginea)
  • ๓๔๗ นกจับแมลงสีน้ำตาลท้องลาย (Muscicapa williamsoni)
  • ๓๔๘ นกจับแมลงสีฟ้า (Eumyias thalassina)
  • ๓๔๙ นกจับแมลงสีฟ้าจิ๋ว (Muscicapella hodgsoni)
  • ๓๕๐ นกจับแมลงสีฟ้าท้องขาว (Cyanoptila cyanomelana)
  • ๓๕๑ นกจับแมลงสีฟ้าอ่อน (Cyornis unicolor)
  • ๓๕๒ นกจับแมลงหน้าดำคอขาว (Ficedula tricolor)
  • ๓๕๓ นกจับแมลงหน้าผากขาว (Ficedula hyperythra)
  • ๓๕๔ นกจับแมลงหลังสีเขียว (Ficedula elisae)
  • ๓๕๕ นกจับแมลงหลังสีเทา (Ficedula hodgsonii)
  • ๓๕๖ นกจับแมลงหัวเทา (Culicicapa ceylonensis)
  • ๓๕๗ นกจับแมลงหัวสีฟ้า (Ficedula sapphira)
  • ๓๕๘ นกจับแมลงอกแดง (Philentoma velatum)
  • ๓๕๙ นกจับแมลงอกเทา (Rhinomyias umbratilis)
  • ๓๖๐ นกจับแมลงอกส้มท้องขาว (Cyornis tickelliae)
  • ๓๖๑ นกจับแมลงอกสีน้ำตาล (Muscicapa muttui)
  • ๓๖๒ นกจับแมลงอกสีน้ำตาลอ่อน (Rhinomyias brunneata)
  • ๓๖๓ นกจับแมลงอกสีเนื้อ (Rhinomyias olivacea)
  • ๓๖๔ นกจับแมลงอกสีฟ้า (Cyornis hainana)
  • ๓๖๕ นกจับแมลงอกสีส้ม (Ficedula dumetoria)
  • ๓๖๖ นกจาบคาคอสีฟ้า (Merops viridis)
  • ๓๖๗ นกจาบคาเคราแดง (Nyctyornis amictus)
  • ๓๖๘ นกจาบคาเคราน้ำเงิน (Nyctyornis athertoni)
  • ๓๖๙ นกจาบคาเล็ก (Merops orientalis)
  • ๓๗๐ นกจาบคาหัวเขียว (Merops philippinus)
  • ๓๗๑ นกจาบคาหัวสีส้ม (Merops leschenaulti)
  • ๓๗๒ นกจาบดินสีน้ำตาลคอลาย (Pellorneum albiventre)
  • ๓๗๓ นกจาบดินหัวดำ (Pellorneum capistratum)
  • ๓๗๔ นกจาบดินอกลาย (Pellorneum ruficeps)
  • ๓๗๕ นกจาบปีกอ่อนเขียว (Carduelis ambigua)
  • ๓๗๖ นกจาบปีกอ่อนตะโพกชมพู (Carpodacus eos)
  • ๓๗๗ นกจาบปีกอ่อนเล็ก (Emberiza pusilla)
  • ๓๗๘ นกจาบปีกอ่อนสีกุหลาบ (Carpodacus erythrinus)
  • ๓๗๙ นกจาบปีกอ่อนสีชมพูคล้ำ (Carpodacus nipalensis)
  • ๓๘๐ นกจาบปีกอ่อนสีแดง (Haematospiza sipahi)
  • ๓๘๑ นกจาบปีกอ่อนสีตาล (Emberiza rutila)
  • ๓๘๒ นกจาบปีกอ่อนหงอน (Melophus lathami)
  • ๓๘๓ นกจาบปีกอ่อนหน้าดำ (Emberiza spodocephala)
  • ๓๘๔ นกจาบปีกอ่อนหัวดำ (Emberiza melanocephala)
  • ๓๘๕ นกจาบปีกอ่อนหัวดำขาว (Emberiza tristrami)
  • ๓๘๖ นกจาบปีกอ่อนหัวเทา (Emberiza fucata)
  • ๓๘๗ นกจาบปีกอ่อนหัวเทาอกชมพู (Fringilla coelebs)
  • ๓๘๘ นกจาบปีกอ่อนอกส้ม (Fringilla montifringilla)
  • ๓๘๙ นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง (Emberiza aureola)
  • ๓๙๐ นกจาบฝนปีกแดง (Mirafra assamica)
  • ๓๙๑ นกจาบฝนเสียงสวรรค์ (Alauda gulgula)
  • ๓๙๒ นกจาบฝนเสียงใส (Mirafra javanica)
  • ๓๙๓ นกจุนจู๋ หรือ นกจุนจู๋ท้องเทาหัวเหลือง (Tesia olivea)
  • ๓๙๔ นกจุนจู๋ท้องเทา (Tesia cyaniventer)
  • ๓๙๕ นกจุนจู๋หัวสีตาล (Tesia castaneocoronata)
  • ๓๙๖ นกจู๋เต้นเขาปูน (Napothera crispifrons)
  • ๓๙๗ นกจู๋เต้นคิ้วยาว (Napothera epilepidota)
  • ๓๙๘ นกจู๋เต้นจิ๋ว (Pnoepyga pusilla)
  • ๓๙๙ นกจู๋เต้นตีนใหญ่ (Napothera macrodactyla)
  • ๔๐๐ นกจู๋เต้นลาย (Kenopia striata)
  • ๔๐๑ นกจู๋เต้นหางสั้น (Nepothera brevicaudata)
  • ๔๐๒ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส (Fregata andrewsi)
  • ๔๐๓ นกโจรสลัดเล็ก (Fregata ariel)
  • ๔๐๔ นกโจรสลัดใหญ่ (Fregata minor)
  • ๔๐๕ นกเฉี่ยวดงธรรมดา (Tephrodornis pondicerianus)
  • ๔๐๖ นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล (Tephrodornis virgatus)
  • ๔๐๗ นกเฉี่ยวบุ้งกลาง (Coracina polioptera)
  • ๔๐๘ นกเฉี่ยวบุ้งเล็ก (Coracina fimbriata)
  • ๔๐๙ นกเฉี่ยวบุ้งใหญ่ (Coracina melaschista)
  • ๔๑๐ นกชนหิน หรือ นกหิน (Buceros vigil หรือ Rhinoplax vigil)
  • ๔๑๑ นกช้อนหอยขาว หรือ นกกุลาขาว (Threskiornis melanocephalus)
  • ๔๑๒ นกช้อนหอยดำ หรือ นกกุลาดำ (Pseudibis davisoni)
  • ๔๑๓ นกช้อนหอยดำเหลือบ (Plegadis falcinellus)
  • ๔๑๔ นกช้อนหอยใหญ่ หรือ นกกุลาใหญ่ (Pseudibis gigantea)
  • ๔๑๕ นกชาปีไหน (Caloenas nicobarica)
  • ๔๑๖ นกชายเลนกระหม่อมแดง (Calidris acuminata)
  • ๔๑๗ นกชายเลนเขียว (Tringa ochropus)
  • ๔๑๘ นกชายเลนท้องดำ (Calidris alpina)
  • ๔๑๙ นกชายเลนน้ำจืด (Tringa glareola)
  • ๔๒๐ นกชายเลนบึง (Tringa stagnatilis)
  • ๔๒๑ นกชายเลนปากกว้าง (Limicola falcinellus)
  • ๔๒๒ นกชายเลนปากโค้ง (Calidris ferruginea)
  • ๔๒๓ นกชายเลนปากช้อน (Eurynorhynchus pygmeus)
  • ๔๒๔ นกชายเลนปากแอ่น (Xenus cinereus)
  • ๔๒๕ นกซ่อมทะเลปากยาว (Limnodromus scolopaceus)
  • ๔๒๖ นกซ่อมทะเลอกแดง (Limnodromus semipalmatus)
  • ๔๒๗ นกแซงแซวปากกา (Dicrurus annectans)
  • ๔๒๘ นกแซงแซวเล็กเหลือบ (Dicrurus aeneus)
  • ๔๒๙ นกแซงแซวสีเทา (Dicrurus leucophaeus)
  • ๔๓๐ นกแซงแซวหงอนขน (Dicrurus hottentottus)
  • ๔๓๑ นกแซงแซวหางบ่วงเล็ก (Dicrurus remifer)
  • ๔๓๒ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Dicrurus paradiseus)
  • ๔๓๓ นกแซงแซวหางปลา (Dicrurus macrocercus)
  • ๔๓๔ นกแซวสวรรค์ (Terpsiphone paradisi)
  • ๔๓๕ นกแซวสวรรค์หางดำ (Terpsiphone atrocaudata)
  • ๔๓๖ นกเด้าดิน (Actitis hypoleucos)
  • ๔๓๗ นกเด้าดินทุ่ง หรือ นกเด้าดินทุ่งใหญ่ (Anthus richardi หรือ Anthus novaeseelandiae)
  • ๔๓๘ นกเด้าดินทุ่งเล็ก (Anthus rufulus)
  • ๔๓๙ นกเด้าดินพันธุ์จีน หรือ นกเด้าดินนิ้วสั้น (Anthus godlewskii)
  • ๔๔๐ นกเด้าดินพันธุ์ไซบีเรีย (Anthus rubescens)
  • ๔๔๑ นกเด้าดินสวน (Anthus hodgsoni)
  • ๔๔๒ นกเด้าดินอกแดง (Anthus cervinus)
  • ๔๔๓ นกเด้าดินอกสีชมพู (Anthus roseatus)
  • ๔๔๔ นกเด้าลมดง (Dendronanthus indicus)
  • ๔๔๕ นกเด้าลมหลังเทา (Motacilla cinerea)
  • ๔๔๖ นกเด้าลมหัวเหลือง (Motacilla citrieola)
  • ๔๔๗ นกเด้าลมเหลือง (Motacilla flava)
  • ๔๔๘ นกเดินดงญี่ปุ่น (Turdus cardis)
  • ๔๔๙ นกเดินดงคอแดง หรือ นกเดินดงคอดำ (Turdus ruficollis)
  • ๔๕๐ นกเดินดงดำปีกเทา (Turdus boulboul)
  • ๔๕๑ นกเดินดงลายเสือ (Zoothera dauma)
  • ๔๕๒ นกเดินดงเล็กปากยาว (Zoothera marginata)
  • ๔๕๓ นกเดินดงสีคล้ำ (Turdus obscurus)
  • ๔๕๔ นกเดินดงสีดำ (Turdus merula)
  • ๔๕๕ นกเดินดงสีเทาดำ (Zoothera sibirica)
  • ๔๕๖ นกเดินดงสีน้ำตาลแดง (Turdus rubrocanus)
  • ๔๕๗ นกเดินดงหลังสีไพล (Zoothera dixoni)
  • ๔๕๘ นกเดินดงหัวน้ำตาลแดง (Zoothera interpres)
  • ๔๕๙ นกเดินดงหัวสีส้ม (Zoothera citrina)
  • ๔๖๐ นกเดินดงอกดำ (Turdus dissimilis)
  • ๔๖๑ นกเดินดงอกเทา (Turdus feae)
  • ๔๖๒ นกเดินดงอกลาย (Turdus naumanni)
  • ๔๖๓ นกตบยุงป่าโคก (Caprimulgus affinis)
  • ๔๖๔ นกตบยุงพันธุ์มลายู (Eurostopodus temminckii)
  • ๔๖๕ นกตบยุงภูเขา (Caprimulgus indicus)
  • ๔๖๖ นกตบยุงยักษ์ (Eurostopodus macrotis)
  • ๔๖๗ นกตบยุงเล็ก (Caprimulgus asiaticus)
  • ๔๖๘ นกตบยุงหางยาว (Caprimulgus macrurus)
  • ๔๖๙ นกตะกราม (Leptoptilos dubius)
  • ๔๗๐ นกตะกรุม (Leptoptilos javanicus)
  • ๔๗๑ นกตะขาบดง (Eurystomus orientalis)
  • ๔๗๒ นกตะขาบทุ่ง (Coracias benghalensis)
  • ๔๗๓ นกตั้งล้อ (Megalaima virens)
  • ๔๗๔ นกติ๊ดแก้มเหลือง (Parus spilonotus)
  • ๔๗๕ นกติ๊ดคิ้วเหลือง (Sylviparus modestus)
  • ๔๗๖ นกติ๊ดสุลต่าน (Melanochlora sultanea)
  • ๔๗๗ นกติ๊ดหน้าแดง (Cephalopyrus flammiceps)
  • ๔๗๘ นกติ๊ดหัวแดง (Aegithalos concinus)
  • ๔๗๙ นกติ๊ดใหญ่ (Parus major)
  • ๔๘๐ นกตีทอง (Megalaima haemacephala)
  • ๔๘๑ นกตีนเทียน (Himantopus himantopus)
  • ๔๘๒ นกตีนเหลือง (Heteroscelus brevipes)
  • ๔๘๓ นกแต้วแล้วเขียวเขมร หรือนกแต้วแร้วเขียวเขมร (Pitta ellioti)
  • ๔๘๔ นกแต้วแล้วแดงมลายู หรือ นกแต้วแร้วแดงมลายู (Pitta granatina)
  • ๔๘๕ นกแต้วแล้วธรรมดา หรือ นกแต้วแร้วธรรมดา หรือ นกกอหลอ (Pitta moluccensis)
  • ๔๘๖ นกแต้วแล้วป่าโกงกาง หรือ นกแต้วแร้วป่าโกงกาง (Pitta megarhyncha)
  • ๔๘๗ นกแต้วแล้วยักษ์ หรือ นกแต้วแร้วยักษ์ หรือนกซุ้มหมู (Pitta caerulea)
  • ๔๘๘ นกแต้วแล้วลาย หรือ นกแต้วแร้วลาย (Pitta guajana)
  • ๔๘๙ นกแต้วแล้วสีน้ำเงิน หรือ นกแต้วแร้วสีน้ำเงิน (Pitta cyanea)
  • ๔๙๐ นกแต้วแล้วหูยาว หรือ นกแต้วแร้วหูยาว (Pitta phayrei)
  • ๔๙๑ นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำเงิน หรือ นกแต้วแร้วใหญ่หัวสีน้ำเงิน (Pitta soror)
  • ๔๙๒ นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำตาล หรือ นกแต้วแร้วใหญ่หัวสีน้ำตาล (Pitta oatesi)
  • ๔๙๓ นกแต้วแล้วอกเขียว หรือ นกแต้วแร้วอกเขียว (Pitta sordida)
  • ๔๙๔ นกโต้คลื่นสีคล้ำ (Oceanodroma monorhis)
  • ๔๙๕ นกไต่ไม้ใต้โคนหางสีน้ำตาล (Sitta nagaensis)
  • ๔๙๖ นกไต่ไม้ท้องสีเม็ดมะขาม (Sitta castanea)
  • ๔๙๗ นกไต่ไม้สีสวย (Sitta formosa)
  • ๔๙๘ นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ (Sitta frontalia)
  • ๔๙๙ นกไต่ไม้ใหญ่ (Sitta magna)
  • ๕๐๐ นกทะเลขาเขียว (Tringa nebularia)
  • ๕๐๑ นกทะเลขาเขียวลายจุด (Tringa guttifer)
  • ๕๐๒ นกทะเลขาแดงธรรมดา (Tringa totanus)
  • ๕๐๓ นกทะเลขาแดงลายจุด (Tringa erythropus)
  • ๕๐๔ นกทึดทือมลายู (Ketupa ketupu)
  • ๕๐๕ นกทึดทือพันธุ์เหนือ (Ketupa zeylonensis)
  • ๕๐๖ นกน็อดดี้ (Anous stolidus)
  • ๕๐๗ นกน็อทเล็ก (Calidris canutus)
  • ๕๐๘ นกน็อทใหญ่ (Calidris tenuirostris)
  • ๕๐๙ นกนางนวลแกลบคิ้วขาว (Sterna anaethetus)
  • ๕๑๐ นกนางนวลแกลบเคราขาว (Chlidonias hybridus)
  • ๕๑๑ นกนางนวลแกลบแคสเปียน (Sterna caspia)
  • ๕๑๒ นกนางนวลแกลบจีน (Sterna bernsteini)
  • ๕๑๓ นกนางนวลแกลบดำ (Sterna fuscata)
  • ๕๑๔ นกนางนวลแกลบดำปีกขาว (Chlidonias leucopterus)
  • ๕๑๕ นกนางนวลแกลบท้องดำ (Sterna acuticauda)
  • ๕๑๖ นกนางนวลแกลบท้ายทอยดำ (Sterna sumatrana)
  • ๕๑๗ นกนางนวลแกลบธรรมดา (Sterna hirundo)
  • ๕๑๘ นกนางนวลแกลบปากหนา (Gelochelidon nilotica)
  • ๕๑๙ นกนางนวลแกลบแม่น้ำ (Sterna aurantia)
  • ๕๒๐ นกนางนวลแกลบเล็ก (Sterna albifrons)
  • ๕๒๑ นกนางนวลแกลบสีกุหลาบ (Sterna dougallii)
  • ๕๒๒ นกนางนวลแกลบหงอนเล็ก (Sterna bengalensis)
  • ๕๒๓ นกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ (Sterna bergii)
  • ๕๒๔ นกนางนวลขอบปีกขาว (Larus ridibundus)
  • ๕๒๕ นกนางนวลธรรมดา (Larus brunnicephalus)
  • ๕๒๖ นกนางนวลปากเรียว (Larus genei)
  • ๕๒๗ นกนางนวลหัวดำใหญ่ (Larus ichthyaetus)
  • ๕๒๘ นกนางนวลหางดำ (Larus crassirostris)
  • ๕๒๙ นกนางนวลแฮร์ริ่ง (Larus argentatus)
  • ๕๓๐ นกนางแอ่นตะโพกแดง (Hirundo daurica)
  • ๕๓๑ นกนางแอ่นลาย (Hirundo striolata)
  • ๕๓๒ นกนางแอ่นทรายสร้อยคอดำ (Riparia riparia)
  • ๕๓๓ นกนางแอ่นทรายสีน้ำตาล (Riparia paludicola)
  • ๕๓๔ นกนางแอ่นบ้าน (Hirundo rustica)
  • ๕๓๕ นกนางแอ่นแปซิฟิค (Hirundo tahitica)
  • ๕๓๖ นกนางแอ่นผาสีคล้ำ (Hirundo concolor)
  • ๕๓๗ นกนางแอ่นมาตินพันธุ์ไซบีเรีย (Delichon urbica)
  • ๕๓๘ นกนางแอ่นมาตินพันธุ์เนปาล (Delichon nipalensis)
  • ๕๓๙ นกนางแอ่นมาตินพันธุ์เอเซียใต้ (Delichon dasypus)
  • ๕๔๐ นกนางแอ่นหางลวด (Hirundo smithii)
  • ๕๔๑ นกนิลตวาท้องสีส้ม (Niltava vivida)
  • ๕๔๒ นกนิลตวาท้องสีส้มคอดำ (Niltava sundara)
  • ๕๔๓ นกนิลตวาท้องสีส้มพันธุ์จีน (Niltava davidi)
  • ๕๔๔ นกนิลตวาเล็ก (Niltava macgrigoriae)
  • ๕๔๕ นกนิลตวาใหญ่ (Niltava grandis)
  • ๕๔๖ นกบั้งรอกเขียวอกแดง (Phaenicophaeus curvirostris)
  • ๕๔๗ นกบั้งรอกแดง (Phaenicophaeus chlorophaeus)
  • ๕๔๘ นกบั้งรอกปากแดง (Phaenicophaeus javanicus)
  • ๕๔๙ นกบั้งรอกเล็กท้องแดง (Phaenicophaeus sumatranus)
  • ๕๕๐ นกบั้งรอกเล็กท้องเทา (Phaenicophaeus diardi)
  • ๕๕๑ นกบั้งรอกใหญ่ (Phaenicophaeus tristis)
  • ๕๕๒ นกบู๊บบี้ตีนแดง (Sula sula)
  • ๕๕๓ นกบู๊บบี้สีน้ำตาล (Sula leucogaster)
  • ๕๕๔ นกบู๊บบี้หน้าดำ (Sula dactylatra)
  • ๕๕๕ นกปรอดคอลาย (Pycnonotus finlaysoni)
  • ๕๕๖ นกปรอดจีน (Pycnonotus sinensis)
  • ๕๕๗ นกปรอดดำ (Hypsipetes leucocephalus หรือ Hypsipetes madagascariensis)
  • ๕๕๘ นกปรอดดำปีกขาว (Pycnonotus melanoleucos)
  • ๕๕๙ นกปรอดทอง (Pycnonotus atriceps)
  • ๕๖๐ นกปรอดท้องสีเทา (Pycnonotus cyaniventris)
  • ๕๖๑ นกปรอดเทาหัวขาว (Hypsipetes thompsoni)
  • ๕๖๒ นกปรอดภูเขา (Hypsipetes mcclellandii)
  • ๕๖๓ นกปรอดแม่พะ หรือ นกปรอดแม่ทะ (Pycnonotus zeylanicus)
  • ๕๖๔ นกปรอดลาย (Pycnonotus striatus)
  • ๕๖๕ นกปรอดเล็กตาขาว (Iole propinquus หรือ Hypsipetes propinquus)
  • ๕๖๖ นกปรอดเล็กท้องเทา (Pycnonotus erythropthalmos)
  • ๕๖๗ นกปรอดเล็กสีไพลตาแดง (Iole viridescens หรือ Hypsipetes viridescens)
  • ๕๖๘ นกปรอดสวน (Pycnonotus blanfordi)
  • ๕๖๙ นกปรอดสีขี้เถ้า (Hemixos flavala หรือ Hypsipetes flavala)
  • ๕๗๐ นกปรอดสีคล้ำใต้คอเหลือง (Criniger finschii)
  • ๕๗๑ นกปรอดสีน้ำตาลตาขาว (Pycnonotus simplex)
  • ๕๗๒ นกปรอดสีน้ำตาลตาแดง (Pycnonotus brunneus)
  • ๕๗๓ นกปรอดสีไพลใหญ่ (Pycnonotus plumosus)
  • ๕๗๔ นกปรอดหงอนตาขาว (Iole olivacea หรือ Hypsipetes charlottae)
  • ๕๗๕ นกปรอดหงอนปากหนา (Spizixos canifrons)
  • ๕๗๖ นกปรอดหงอนหลังลาย (Pycnonotus eutilotus)
  • ๕๗๗ นกปรอดหน้านวล (Pycnonotus goiavier)
  • ๕๗๘ นกปรอดหลังเขียวอกลาย (Ixos malaccensis หรือ Hypsipetes malaccensis)
  • ๕๗๙ นกปรอดหลังฟู (Tricholestes criniger หรือ Hypsipetes criniger)
  • ๕๘๐ นกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก (Pycnonotus jocosus)
  • ๕๘๑ นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง (Pycnonotus xanthorrhous)
  • ๕๘๒ นกปรอดหัวตาขาว (Pycnonotus flavescens)
  • ๕๘๓ นกปรอดหัวสีเขม่า (Pycnonotus aurigaster)
  • ๕๘๔ นกปรอดเหลืองหัวจุก (Pycnonotus melanicterus)
  • ๕๘๕ นกปรอดอกลายเกล็ด (Pycnonotus squamatus)
  • ๕๘๖ นกปรอดโอ่งแก้มเทา (Criniger bres)
  • ๕๘๗ นกปรอดโอ่งท้องสีน้ำตาล (Criniger ochraceus)
  • ๕๘๘ นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ (Criniger pallidus)
  • ๕๘๙ นกปรอดโอ่งไร้หงอน (Criniger phaeocephalus)
  • ๕๙๐ นกปรอดโอ่งหน้าผากเทา (Alophoixus flaveolus หรือ Criniger flaveolus)
  • ๕๙๑ นกปลีกล้วยท้องเทา (Arachnothera affinis)
  • ๕๙๒ นกปลีกล้วยปากยาว (Arachnothera robusta)
  • ๕๙๓ นกปลีกล้วยปากหนา (Arachnothera crassirostris)
  • ๕๙๔ นกปลีกล้วยลาย (Arachnothera magna)
  • ๕๙๕ นกปลีกล้วยเล็ก (Arachnothera longirostra)
  • ๕๙๖ นกปลีกล้วยหูเหลืองเล็ก (Arachnothera chrysogenys)
  • ๕๙๗ นกปลีกล้วยหูเหลืองใหญ่ (Arachnothera flavigaster)
  • ๕๙๘ นกปากกบปักษ์ใต้ (Batrachostomus stellatus)
  • ๕๙๙ นกปากกบพันธุ์ชวา (Batrachostomus javensis)
  • ๖๐๐ นกปากกบยักษ์ (Batrachostomus auritus)
  • ๖๐๑ นกปากกบลายดำ (Batrachostomus hodgsoni)
  • ๖๐๒ นกปากงอน (Recurvirostra avosetta)
  • ๖๐๓ นกปากช้อนหน้าขาว (Platalea leucorodia)
  • ๖๐๔ นกปากช้อนหน้าดำ (Platalea minor)
  • ๖๐๕ นกปากซ่อมดง (Scolopax rusticola)
  • ๖๐๖ นกปากซ่อมพง (Gallinago nemoricola)
  • ๖๐๗ นกปากซ่อมเล็ก (Lymnocryptes minimus)
  • ๖๐๘ นกปากซ่อมสวินโฮ (Gallinago megala)
  • ๖๐๙ นกปากซ่อมหางเข็ม (Gallinago stenura)
  • ๖๑๐ นกปากซ่อมหางพัด (Gallinago gallinago)
  • ๖๑๑ นกปากนกแก้วคิ้วดำ (Pradoxornis atrosuperciliaris)
  • ๖๑๒ นกปากนกแก้วหัวเทา (Paradoxornis gularis)
  • ๖๑๓ นกปากนกแก้วหางสั้น (Paradoxornis davidianus)
  • ๖๑๔ นกปากนกแก้วหูเทา (Paradoxornis nipalensis)
  • ๖๑๕ นกปากนกแก้วอกลาย (Paradoxornis guttaticollis)
  • ๖๑๖ นกปากห่าง (Anastomus oscitans)
  • ๖๑๗ นกปากแอ่นหางดำ (Limosa limosa)
  • ๖๑๘ นกปากแอ่นหางลาย (Limosa lapponica)
  • ๖๑๙ นกปีกแพรสีเขียว (Cochoa viridis)
  • ๖๒๐ นกปีกแพรสีม่วง (Cochoa purpurea)
  • ๖๒๑ นกปีกลายตาขาว (Actinodura ramsayi)
  • ๖๒๒ นกปีกลายสก็อต (Garrulus glandarius)
  • ๖๒๓ นกปีกสั้นเล็ก (Brachypteryx leucophrys)
  • ๖๒๔ นกปีกสั้นสีน้ำเงิน (Brachypteryx montana)
  • ๖๒๕ นกเป็ดผีเล็ก (Tachybaptus ruficollis)
  • ๖๒๖ นกเป็ดผีใหญ่ (Podiceps cristatus)
  • ๖๒๗ นกเปล้าขาเหลือง (Treron phoenicoptera)
  • ๖๒๘ นกเปล้าคอสีม่วง (Treron vernans)
  • ๖๒๙ นกเปล้าแดง (Treron fulvicollis)
  • ๖๓๐ นกเปล้าท้องขาว (Treron sieboldii)
  • ๖๓๑ นกเปล้าเล็กหัวเทา (Treron olax)
  • ๖๓๒ นกเปล้าหน้าแดง (Ptilinopus jambu)
  • ๖๓๓ นกเปล้าหน้าเหลือง (Treron pompadora)
  • ๖๓๔ นกเปล้าหางเข็ม (Treron apicauda)
  • ๖๓๕ นกเปล้าหางเข็มหัวปีกแดง (Treron seimundi)
  • ๖๓๖ นกเปล้าหางพลั่ว (Treron sphenura)
  • ๖๓๗ นกเปล้าใหญ่ (Treron capellei)
  • ๖๓๘ นกเปล้าอกสีม่วงน้ำตาล (Treron bicincta)
  • ๖๓๙ นกเปลือกไม้ (Certhia discolor)
  • ๖๔๐ นกโป่งวิด (Rostratula benghalensis)
  • ๖๔๑ นกพงคิ้วดำ (Acrocephalus bistrigiceps)
  • ๖๔๒ นกพงตั๊กแตนท้ายทอยสีเทา (Locustella certhiola)
  • ๖๔๓ นกพงตั๊กแตนอกลาย (Locustella lanceolata)
  • ๖๔๔ นกพงนาพันธุ์จีน (Acrocephalus concinens)
  • ๖๔๕ นกพงนาพันธุ์แมนจูเรีย (Acrocephalus tangorum)
  • ๖๔๖ นกพงนาหิมาลัย (Acrocephalus agricola)
  • ๖๔๗ นกพงปากหนา (Acrocephalus aedon)
  • ๖๔๘ นกพงหญ้า (Graminicola bengalensis)
  • ๖๔๙ นกพงใหญ่พันธุ์ญี่ปุ่น (Acrocephalus orientalis หรือ Acrocephalus arundinaceus)
  • ๖๕๐ นกพงใหญ่พันธุ์อินเดีย (Acrocephalus stentoreus)
  • ๖๕๑ นกพญาปากกว้างท้องแดง (Cymbirhynchus macrorhynchos)
  • ๖๕๒ นกพญาปากกว้างลายเหลือง (Eurylaimus javanicus)
  • ๖๕๓ นกพญาปากกว้างเล็ก (Eurylaimus ochromalus)
  • ๖๕๔ นกพญาปากกว้างสีดำ (Corydon sumatranus)
  • ๖๕๕ นกพญาปากกว้างหางยาว (Psarisomus dalhousiae)
  • ๖๕๖ นกพญาปากกว้างอกสีเงิน (Serilophus lunatus)
  • ๖๕๗ นกพญาไฟคอเทา (Pericrocotus solaris)
  • ๖๕๘ นกพญาไฟพันธุ์เหนือ (Pericrocotus ethologus)
  • ๖๕๙ นกพญาไฟแม่สะเรียง (Pericrocotus brevirostris)
  • ๖๖๐ นกพญาไฟเล็ก (Pericrocotus cinnamomeus)
  • ๖๖๑ นกพญาไฟเล็กคอดำ (Pericrocotus igneus)
  • ๖๖๒ นกพญาไฟสีกุหลาบ (Pericrocotus roseus)
  • ๖๖๓ นกพญาไฟสีเทา (Pericrocotus divaricatus)
  • ๖๖๔ นกพญาไฟตะโพกสีน้ำตาล (Pericrocotus cantonensis)
  • ๖๖๕ นกพญาไฟใหญ่ (Pericrocotus flammeus)
  • ๖๖๖ นกพรานผึ้ง (Indicator archipelagicus)
  • ๖๖๗ นกพริก (Metopidius indicus)
  • ๖๖๘ นกพลิกหิน (Arenaria interpres)
  • ๖๖๙ นกพิราบเขาสูง (Columba pulchricollis)
  • ๖๗๐ นกพิราบป่าอกลาย (Columba hodgsonii)
  • ๖๗๑ นกโพระดกคอสีฟ้า (Megalaima asiatica)
  • ๖๗๒ นกโพระดกคอสีฟ้าเคราดำ (Megalaima incognita)
  • ๖๗๓ นกโพระดกคางแดง (Megalaima mystacophanos)
  • ๖๗๔ นกโพระดกคางเหลือง (Megalaima franklinii)
  • ๖๗๕ นกโพระดกคิ้วดำ (Megalaima oorti)
  • ๖๗๖ นกโพระดกเคราเหลือง (Megalaima chrysopogon)
  • ๖๗๗ นกโพระดกธรรมดา (Megalaima lineata)
  • ๖๗๘ นกโพระดกหนวดแดง (Psilopogon pyrolophus)
  • ๖๗๙ นกโพระดกหน้าผากดำ (Megalaima australis)
  • ๖๘๐ นกโพระดกหลากสี (Megalaima rafflesii)
  • ๖๘๑ นกโพระดกหัวเหลือง (Megalaima henricii)
  • ๖๘๒ นกโพระดกหูเขียว (Megalaima faiostricta)
  • ๖๘๓ นกฟินฟุท (Heliopais personata)
  • ๖๘๔ นกภูหงอนท้องขาว (Yuhina zantholeuca)
  • ๖๘๕ นกภูหงอนพม่า (Yuhina humilis)
  • ๖๘๖ นกภูหงอนวงตาขาว (Yuhina flavicollis)
  • ๖๘๗ นกภูหงอนหัวน้ำตาลแดง (Yuhina castaniceps)
  • ๖๘๘ นกมุดน้ำ (Cinclus pallasii)
  • ๖๘๙ นกมุ่นรกคอแดง (Alcippe rufogularis)
  • ๖๙๐ นกมุ่นรกคิ้วดำ (Alcippe grotei)
  • ๖๙๑ นกมุ่นรกตาขาว (Alcippe poioicephala)
  • ๖๙๒ นกมุ่นรกตาแดง (Alcippe morrisonia)
  • ๖๙๓ นกมุ่นรกภูเขา (Alcippe peracensis)
  • ๖๙๔ นกมุ่นรกสีน้ำตาล (Alcippe brunneicauda)
  • ๖๙๕ นกมุ่นรกหัวน้ำตาลแดง (Alcippe castaneceps)
  • ๖๙๖ นกมูม (Ducula badia)
  • ๖๙๗ นกยอดข้าวหางแพนลาย (Cisticola juncidis)
  • ๖๙๘ นกยอดข้าวหางแพนหัวแดง (Cisticola exilis)
  • ๖๙๙ นกยอดหญ้าสีดำ หรือ นกขี้หมา (Saxicola caprata)
  • ๗๐๐ นกยอดหญ้าสีเทา (Saxicola ferrea)
  • ๗๐๑ นกยอดหญ้าหลังดำ (Saxicola jerdoni)
  • ๗๐๒ นกยอดหญ้าหัวดำ (Saxicola torquata)
  • ๗๐๓ นกยางกรอกพันธุ์จีน (Ardeola bacchus)
  • ๗๐๔ นกยางกรอกพันธุ์ชวา (Ardeola speciosa)
  • ๗๐๕ นกยางกรอกพันธุ์อินเดีย (Ardeola grayii)
  • ๗๐๖ นกยางเขียว (Butorides striatus)
  • ๗๐๗ นกยางควาย (Bubulcus ibis)
  • ๗๐๘ นกยางจีน (Egretta eulophotes)
  • ๗๐๙ นกยางดำ (Dupetor flavicollis)
  • ๗๑๐ นกยางแดงใหญ่ (Botaurus stellaris)
  • ๗๑๑ นกยางทะเล (Egretta sacra)
  • ๗๑๒ นกยางโทนน้อย (Mesophoyx intermedia หรือ Egretta intermedia)
  • ๗๑๓ นกยางโทนใหญ่ (Casmerodius albus หรือ Egretta alba)
  • ๗๑๔ นกยางเปีย (Egretta garzetta)
  • ๗๑๕ นกยางไฟธรรมดา (Ixobrychus cinnamomeus)
  • ๗๑๖ นกยางไฟหัวดำ (Ixobrychus sinensis)
  • ๗๑๗ นกยางไฟหัวเทา (Ixobrychus eurhythmus)
  • ๗๑๘ นกยางลายเสือ (Gorsachius melanolophus)
  • ๗๑๙ นกยูง (Pavo muticus)
  • ๗๒๐ นกร่อนทะเลหางขาว (Phaethon lepturus)
  • ๗๒๑ นกร่อนทะเลหางแดง (Phaethon rubricauda)
  • ๗๒๒ นกระวังไพรแก้มสีน้ำตาล (Pomatorhinus erythrogenys)
  • ๗๒๓ นกระวังไพรปากแดงยาว (Pomatorhinus ochraceiceps)
  • ๗๒๔ นกระวังไพรปากแดงสั้น (Pomatorhinus ferruginosus)
  • ๗๒๕ นกระวังไพรปากยาว (Pomatorhinus hypoleucos)
  • ๗๒๖ นกระวังไพรปากเหลือง (Pomatorhinus schisticeps)
  • ๗๒๗ นกระวังไพรหลังแดง (Pomatorhinus montanus)
  • ๗๒๘ นกรัฟ (Philomachus pugnax)
  • ๗๒๙ นกลอยทะเลคอแดง (Phalaropus lobatus)
  • ๗๓๐ นกลุมพู หรือ นกกะลุมพู (Ducula aenea)
  • ๗๓๑ นกลุมพูขาว หรือ นกกะลุมพูขาว (Ducula bicolor)
  • ๗๓๒ นกลุมพูแดง หรือ นกกะลุมพูแดง (Columba punicea)
  • ๗๓๓ นกแว่นตาขาวข้างแดง (Zosterops erythropleurus)
  • ๗๓๔ นกแว่นตาขาวสีทอง (Zosterops palpebrosus)
  • ๗๓๕ นกแว่นตาขาวสีเหลืองปักษ์ใต้ (Zosterops everetti)
  • ๗๓๖ นกแว่นตาขาวหลังเขียว (Zosterops japonicus)
  • ๗๓๗ นกแว่นสีเทา หรือ นกแว่นเหนือ (Polyplectron bicalcaratum)
  • ๗๓๘ นกแว่นสีน้ำตาล หรือ นกแว่นใต้ (Polyplectron malacense)
  • ๗๓๙ นกศิวะปีกสีฟ้า (Minla cyanouroptera)
  • ๗๔๐ นกศิวะหางสีตาล (Minla strigula)
  • ๗๔๑ นกสกัว หรือ นกสกัวหางช้อน (Stercorarius pomarinus)
  • ๗๔๒ นกสกัวขั้วโลกเหนือ (Stercorarius parasiticus)
  • ๗๔๓ นกสกัวหางยาว (Stercorarius longicaudus)
  • ๗๔๔ นกสติ๊นท์อกเทา (Calidris temminckii)
  • ๗๔๕ นกสติ๊นท์คอแดง (Calidris ruficollis)
  • ๗๔๖ นกสติ๊นท์นิ้วยาว (Calidris subminuta)
  • ๗๔๗ นกสติ๊นท์เล็ก (Calidris minuta)
  • ๗๔๘ นกสาลิกาเขียว (Cissa chinensis)
  • ๗๔๙ นกสาลิกาเขียวหางสั้น (Cissa hypoleuca)
  • ๗๕๐ นกสาลิกาปากดำ (Pica pica)
  • ๗๕๑ นกสีชมพูสวน (Dicaeum cruentatum)
  • ๗๕๒ นกเสือแมลงคอสีตาล (Pteruthius melanotis)
  • ๗๕๓ นกเสือแมลงปีกแดง (Pteruthius flaviscapis)
  • ๗๕๔ นกเสือแมลงหน้าสีตาล (Pteruthius aenobarbus)
  • ๗๕๕ นกเสือแมลงหัวขาว (Gampsorhynchus rufulus)
  • ๗๕๖ นกแสก (Tyto alba)
  • ๗๕๗ นกแสกแดง (Phodilus badius)
  • ๗๕๘ นกหกเล็กปากดำ (Loriculus galgulus)
  • ๗๕๙ นกหกเล็กปากแดง (Loriculus vernalis)
  • ๗๖๐ นกหกใหญ่ (Psittinus cyanurus)
  • ๗๖๑ นกหนูแดง (Porzana fusca)
  • ๗๖๒ นกหว้า (Argusianus argus)
  • ๗๖๓ นกหัวขวานเขียวคอเขียว (Picus viridanus)
  • ๗๖๔ นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง (Picus erythropygius)
  • ๗๖๕ นกหัวขวานเขียวท้องลาย (Picus xanthopygaeus)
  • ๗๖๖ นกหัวขวานเขียวป่าไผ่ (Picus vittatus)
  • ๗๖๗ นกหัวขวานเขียวหัวดำ (Picus canus)
  • ๗๖๘ นกหัวขวานคอลาย (Picus mentalis)
  • ๗๖๙ นกหัวขวานแคระจุดรูปหัวใจ (Hemicircus canente)
  • ๗๗๐ นกหัวขวานแคระอกเทา (Hemicircus concretus)
  • ๗๗๑ นกหัวขวานจิ๋วคิ้วขาว (Sasia ochracea)
  • ๗๗๒ นกหัวขวานจิ๋วท้องลาย (Picumnus innominatus)
  • ๗๗๓ นกหัวขวานจิ๋วอกแดง (Sasia abnormis)
  • ๗๗๔ นกหัวขวานด่างแคระ (Dendrocopos canicapillus หรือ Picoides canicapillus)
  • ๗๗๕ นกหัวขวานด่างท้องดำ (Meiglyptes jugularis)
  • ๗๗๖ นกหัวขวานด่างท้องน้ำตาลแดง (Dendrocopos hyperythrus หรือ Picoides hyperythrus)
  • ๗๗๗ นกหัวขวานด่างหน้าผากเหลือง (Picoides mahrattensis)
  • ๗๗๘ นกหัวขวานด่างหัวแดงอกลาย (Picoides atratus)
  • ๗๗๙ นกหัวขวานด่างอกลายจุด (Picoides macei)
  • ๗๘๐ นกหัวขวานแดง (Blythipicus rubiginosus)
  • ๗๘๑ นกหัวขวานแดงลาย (Picus miniaceus)
  • ๗๘๒ นกหัวขวานแดงหลังลาย (Blythipicus pyrrhotis)
  • ๗๘๓ นกหัวขวานป่าไผ่ (Gecinulus viridis)
  • ๗๘๔ นกหัวขวานปีกแดง (Picus puniceus)
  • ๗๘๕ นกหัวขวานลายคอแถบขาว (Meiglyptes tukki)
  • ๗๘๖ นกหัวขวานลายตะโพกเหลือง (Meiglyptes tristis)
  • ๗๘๗ นกหัวขวานเล็กหงอนเหลือง (Picus chlorolophus)
  • ๗๘๘ นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง (Dinopium javanense)
  • ๗๘๙ นกหัวขวานสามนิ้วหลังสีไพล (Dinopium rafflesii)
  • ๗๙๐ นกหัวขวานสีตาล (Celeus brachyurus)
  • ๗๙๑ นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง (Chrysocolaptes lucidus)
  • ๗๙๒ นกหัวขวานหลังสีส้ม (Reinwardtipicus validus)
  • ๗๙๓ นกหัวขวานหัวเหลือง (Gecinulus grantia)
  • ๗๙๔ นกหัวขวานใหญ่สีดำ (Dryocopus javensis)
  • ๗๙๕ นกหัวขวานใหญ่สีเทา (Muelleripicus pulverulentus)
  • ๗๙๖ นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง (Picus flavinucha)
  • ๗๙๗ นกหัวขวานอกแดง (Dendrocopus cathpharius หรือ Picoides cathpharius)
  • ๗๙๘ นกหัวโตกินปู (Dromas ardeola)
  • ๗๙๙ นกหัวโตขาดำ (Charadrius alexandrinus)
  • ๘๐๐ นกหัวโตขายาว (Charadrius veredus)
  • ๘๐๑ นกหัวโตทรายเล็ก (Charadrius mongolus)
  • ๘๐๒ นกหัวโตทรายใหญ่ (Charadrius leschenaultii)
  • ๘๐๓ นกหัวโตปากยาว (Charadrius placidus)
  • ๘๐๔ นกหัวโตมลายู (Charadrius peronii)
  • ๘๐๕ นกหัวโตเล็กขาสีส้ม (Charadrius hiaticula)
  • ๘๐๖ นกหัวโตเล็กขาเหลือง (Charadrius dubius)
  • ๘๐๗ นกหัวโตสีเทา (Pluvialis squatarola)
  • ๘๐๘ นกหัวโตหลังจุดสีทอง (Pluvialis fulva)
  • ๘๐๙ นกหางนาก (Megalurus palustris)
  • ๘๑๐ นกหางรำดำ (Heterophasia melanoleuca)
  • ๘๑๑ นกหางรำหลังแดง (Heterophasia annectens)
  • ๘๑๒ นกหางรำหางยาว (Heterophasia picaoides)
  • ๘๑๓ นกออก (Haliaeetus leucogaster)
  • ๘๑๔ นกอัญชันคิ้วขาว (Porzana cinerea)
  • ๘๑๕ นกอัญชันจีน (Porzana paykullii)
  • ๘๑๖ นกอัญชันป่าขาแดง (Rallina fasciata)
  • ๘๑๗ นกอัญชันป่าขาเทา (Rallina eurizonoides)
  • ๘๑๘ นกอัญชันเล็ก (Porzana pusilla)
  • ๘๑๙ นกอัญชันเล็กลายจุด (Porzana porzana)
  • ๘๒๐ นกอัญชันหางดำ (Porzana bicolor)
  • ๘๒๑ นกอัญชันอกเทา (Rallus striatus)
  • ๘๒๒ นกอัญชันอกสีไพล (Rallus aquaticus)
  • ๘๒๓ นกอ้ายงั่ว (Anhinga melanogaster)
  • ๘๒๔ นกอินทรีดำ (Ictinaetus malayensis)
  • ๘๒๕ นกอินทรีแถบปีกดำ (Hieraaetus fasciatus)
  • ๘๒๖ นกอินทรีทุ่งหญ้าสเต็ปป์ (Aquila nipalensis)
  • ๘๒๗ นกอินทรีปีกลาย (Aquila clanga)
  • ๘๒๘ นกอินทรีเล็ก (Hieraaetus pennatus)
  • ๘๒๙ นกอินทรีสีน้ำตาล (Aquila rapax)
  • ๘๓๐ นกอินทรีหัวนวล (Haliaeetus leucoryphus)
  • ๘๓๑ นกอินทรีหัวไหล่ขาว (Aquila heliaca)
  • ๘๓๒ นกอินทรีหางขาว (Haliaeetus albicilla)
  • ๘๓๓ นกอีก๋อยจิ๋ว (Numenius minutus)
  • ๘๓๔ นกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล (Numenius madagascariensis)
  • ๘๓๕ นกอีก๋อยเล็ก (Numenius phaeopus)
  • ๘๓๖ นกอีก๋อยใหญ่ (Numenius arquata)
  • ๘๓๗ นกอีโก้ง (Porphyrio porphyrio)
  • ๘๓๘ นกอีแจว (Hydrophasianus chirurgus)
  • ๘๓๙ นกอีแพรดคอขาว (Rhipidura albicollis)
  • ๘๔๐ นกอีแพรดคิ้วขาว (Rhipidura aureola)
  • ๘๔๑ นกอีแพรดแถบอกดำ (Rhipidura javanica)
  • ๘๔๒ นกอีแพรดท้องเหลือง (Rhipidura hypoxantha)
  • ๘๔๓ นกอีแพรดอกลาย (Rhipidura perlata)
  • ๘๔๔ นกอีล้ำ หรือ นกอีดำ (Gallinula chloropus)
  • ๘๔๕ นกอีลุ้ม (Gallicrex cinerea)
  • ๘๔๖ นกอีวาบตั๊กแตน (Cacomantis merulinus)
  • ๘๔๗ นกอีเสือลายเสือ (Lanius tigrinus)
  • ๘๔๘ นกอีเสือสีน้ำตาล (Lanius cristatus)
  • ๘๔๙ นกอีเสือหลังแดง (Lanius collurioides)
  • ๘๕๐ นกอีเสือหลังเทา (Lanius tephronotus)
  • ๘๕๑ นกอีเสือหัวดำ (Lanius schach)
  • ๘๕๒ นกอุ้มบาตร (Motacilla alba)
  • ๘๕๓ นกเอี้ยงก้นลาย (Acridotheres cristatellus)
  • ๘๕๔ นกเอี้ยงควาย (Acridotheres fuscus)
  • ๘๕๕ นกเอี้ยงด่าง (Gracupica contra หรือ Sturnus contra)
  • ๘๕๖ นกเอี้ยงดำปักษ์ใต้ (Aplonis panayensis)
  • ๘๕๗ นกเอี้ยงถ้ำ (Myiophoneus caeruleus)
  • ๘๕๘ นกเอี้ยงพราหมณ์ (Temenuchus pagodarum หรือ Sturnus pagodarum)
  • ๘๕๙ นกเอี้ยงสาริกา หรือ นกเอี้ยงสาลิกา (Acridotheres tristis)
  • ๘๖๐ นกเอี้ยงหงอน (Acridotheres grandis หรือ Acridotheres javanicus)
  • ๘๖๑ นกเอี้ยงหัวสีทอง (Ampeliceps coronatus)
  • ๘๖๒ นกแอ่นกินรัง (Collocalia fuciphagus หรือ Aerodramus fuciphagus)
  • ๘๖๓ นกแอ่นตะโพกขาวหางแฉก (Apus pacificus)
  • ๘๖๔ นกแอ่นตาล (Cypsiurus balasiensis)
  • ๘๖๕ นกแอ่นท้องขาว (Collocalia esculenta)
  • ๘๖๖ นกแอ่นท้องลาย (Apus acuticauda)
  • ๘๖๗ นกแอ่นทุ่งเล็ก (Glareola lactea)
  • ๘๖๘ นกแอ่นทุ่งใหญ่ (Glareola maldivarum)
  • ๘๖๙ นกแอ่นบ้าน (Apus affinis)
  • ๘๗๐ นกแอ่นพง (Artamus fuscus)
  • ๘๗๑ นกแอ่นพันธุ์หิมาลัย (Collocalia brevirostris หรือ Aerodramus brevirostris)
  • ๘๗๒ นกแอ่นฟ้าเคราขาว (Hemiprocne comata)
  • ๘๗๓ นกแอ่นฟ้าตะโพกสีเทา (Hemiprocne longipennis)
  • ๘๗๔ นกแอ่นฟ้าหงอน (Hemiprocne coronata)
  • ๘๗๕ นกแอ่นเล็กหางหนามตะโพกขาว (Rhaphidura leucopygialis)
  • ๘๗๖ นกแอ่นหางสี่เหลี่ยม หรือ นกแอ่นรังดำ (Collocalia maximus หรือ Aerodramus maximus)
  • ๘๗๗ นกแอ่นใหญ่คอขาว (Hirundapus caudacutus)
  • ๘๗๘ นกแอ่นใหญ่หัวตาขาว (Hirundapus giganteus)
  • ๘๗๙ นกแอ่นใหญ่หัวตาดำ (Hirundapus cochinchinensis)
  • ๘๘๐ นกฮูก หรือนกเค้ากู่ (Otus lempiji)
  • ๘๘๑ เป็ดก่า (Cairina scutulata)
  • ๘๘๒ เป็ดคับแค (Nettapus coromandelianus)
  • ๘๘๓ เป็ดเชลดัก (Tadorna tadorna)
  • ๘๘๔ เป็ดดำหัวดำ (Aythya baeri)
  • ๘๘๕ เป็ดดำหัวสีน้ำตาล (Aythya nyroca)
  • ๘๘๖ เป็ดแดง (Dendrocygna javanica)
  • ๘๘๗ เป็ดเทา (Anas poecilorhyncha)
  • ๘๘๘ เป็ดเทาก้นดำ (Anas strepera)
  • ๘๘๙ เป็ดปากแดง (Netta rufina)
  • ๘๙๐ เป็ดปากยาวข้างลาย (Mergus squamatus)
  • ๘๙๑ เป็ดปากพลั่ว (Anas clypeata)
  • ๘๙๒ เป็ดปากสั้น (Anas penelope)
  • ๘๙๓ เป็ดปีกเขียว (Anas crecca)
  • ๘๙๔ เป็ดเปีย (Aythya fuligula)
  • ๘๙๕ เป็ดเปียหน้าเขียว (Anas falcata)
  • ๘๙๖ เป็ดโปช๊าดหลังขาว (Aythya ferina)
  • ๘๙๗ เป็ดพม่า (Tadorna ferruginea)
  • ๘๙๘ เป็ดลาย (Anas querquedula)
  • ๘๙๙ เป็ดหงส์ (Sarkidiornis melanotos)
  • ๙๐๐ เป็ดหน้าเหลือง (Anas formosa)
  • ๙๐๑ เป็ดหัวเขียว (Anas platyrhynchos)
  • ๙๐๒ เป็ดหางแหลม (Anas acuta)
  • ๙๐๓ พญาแร้ง (Sarcogyps calvus)
  • ๙๐๔ ห่านเทาปากชมพู (Anser anser)
  • ๙๐๕ ห่านเทาปากดำ หรือห่านคอขาว (Anser cygnoides)
  • ๙๐๖ ห่านหัวลาย (Anser indicus)
  • ๙๐๗ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ (Aviceda leuphotes)
  • ๙๐๘ เหยี่ยวกิ้งก่าสีน้ำตาล (Aviceda jerdoni)
  • ๙๐๙ เหยี่ยวขาว (Elanus caeruleus)
  • ๙๑๐ เหยี่ยวค้างคาว (Macheiramphus alcinus)
  • ๙๑๑ เหยี่ยวเคสเตรล (Falco tinnunculus)
  • ๙๑๒ เหยี่ยวด่างดำขาว (Circus melanoleucos)
  • ๙๑๓ เหยี่ยวดำ (Milvus migrans)
  • ๙๑๔ เหยี่ยวดำท้องขาว (Spizaetus alboniger)
  • ๙๑๕ เหยี่ยวแดง (Haliastur indus)
  • ๙๑๖ เหยี่ยวต่างสี (Spizaetus cirrhatus)
  • ๙๑๗ เหยี่ยวตีนแดง (Falco amurensis)
  • ๙๑๘ เหยี่ยวท้องแดง (Hieraaetus kienerii)
  • ๙๑๙ เหยี่ยวทะเลทราย (Buteo buteo)
  • ๙๒๐ เหยี่ยวทุ่ง (Circus spilonotus)
  • ๙๒๑ เหยี่ยวทุ่งแถบเหนือ (Circus cyaneus)
  • ๙๒๒ เหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยูเรเซีย (Circus aeruginosus)
  • ๙๒๓ เหยี่ยวนกกระจอกเล็ก (Accipiter virgatus)
  • ๙๒๔ เหยี่ยวนกกระจอกใหญ่ (Accipiter nisus)
  • ๙๒๕ เหยี่ยวนกเขาชิครา (Accipiter badius)
  • ๙๒๖ เหยี่ยวนกเขาท้องขาว (Accipiter gentilis)
  • ๙๒๗ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน (Accipiter soloensis)
  • ๙๒๘ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น (Accipiter gularis)
  • ๙๒๙ เหยี่ยวนกเขาหงอน (Accipiter trivirgatus)
  • ๙๓๐ เหยี่ยวนิ้วสั้น (Circaetus gallicus)
  • ๙๓๑ เหยี่ยวปลาเล็กหัวเทา (Ichthyophaga humilis)
  • ๙๓๒ เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา (Ichthyophaga ichthyaetus)
  • ๙๓๓ เหยี่ยวปีกแดง (Butastur liventer)
  • ๙๓๔ เหยี่ยวผึ้ง (Pernis ptilorhyncus)
  • ๙๓๕ เหยี่ยวเพเรกริน (Falco peregrinus)
  • ๙๓๖ เหยี่ยวภูเขา (Spizaetus nipalensis)
  • ๙๓๗ เหยี่ยวเมอร์ลิน (Falco columbarius)
  • ๙๓๘ เหยี่ยวแมลงปอขาดำ (Microhierax fringillarius)
  • ๙๓๙ เหยี่ยวแมลงปอขาแดง (Microhierax caerulescens)
  • ๙๔๐ เหยี่ยวรุ้ง (Spilornis cheela)
  • ๙๔๑ เหยี่ยวเล็กตะโพกขาว (Polihierax insignis)
  • ๙๔๒ เหยี่ยวหงอนสีน้ำตาลท้องขาว (Spizaetus nanus)
  • ๙๔๓ เหยี่ยวหน้าเทา (Butastur indicus)
  • ๙๔๔ เหยี่ยวออสเปร (Pandion haliaetus)
  • ๙๔๕ เหยี่ยวฮอบบี้ (Falco severus)
  • ๙๔๖ เหยี่ยวฮอบบี้ยุโรป (Falco subbuteo)
  • ๙๔๗ อีกา (Corvus macrorhynchos)
  • ๙๔๘ อีแก (Corvus splendens)
  • ๙๔๙ อีแร้งดำหิมาลัย (Aegypius monachus)
  • ๙๕๐ อีแร้งเทาหลังขาว (Gyps bengalensis)
  • ๙๕๑ อีแร้งสีน้ำตาล (Gyps indicus)
  • ๙๕๒ อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Gyps himalayensis)

สัตว์ป่าจํ าพวกสัตว์เลื้อยคลาน

  • ๑ กิ้งก่าแก้ว (Calotes emma)
  • ๒ กิ้งก่าเขาเล็ก (Acanthosaura lepidogaster)
  • ๓ กิ้งก่าเขาหนามยาว (Acanthosaura armata)
  • ๔ กิ้งก่าเขาหนามสั้น (Acanthosaura crucigera)
  • ๕ กิ้งก่าดงคอสีฟ้า (Gonocephalus bellii)
  • ๖ กิ้งก่าดงคิ้วสัน (Gonocephalus doriae)
  • ๗ กิ้งก่าดงใหญ่ (Gonocephalus grandis)
  • ๘ กิ้งก่าบินคอดำ (Draco melanopogon)
  • ๙ กิ้งก่าบินคอแดง (Draco blanfordii)
  • ๑๐ กิ้งก่าบินคอสีส้ม (Draco fimbriatus)
  • ๑๑ กิ้งก่าบินปีกแดง (Draco haematopogon)
  • ๑๒ กิ้งก่าบินปีกลาย (Draco taeniopterus)
  • ๑๓ กิ้งก่าบินปีกส้ม (Draco maculatus)
  • ๑๔ กิ้งก่าบินปีกห้าแถบ (Draco quinquefasciatus)
  • ๑๕ กิ้งก่าบินมลายู (Draco obscurus)
  • ๑๖ กิ้งก่าบินหัวสีฟ้า (Draco volans)
  • ๑๗ กิ้งก่าป่าสีน้ำเงิน หรือ กิ้งก่าพระอินทร์ (Aphaniotis fusca)
  • ๑๘ กิ้งก่าหัวแดง หรือ กิ้งก่ารั้ว (Calotes versicolor)
  • ๑๙ กิ้งก่าหัวสีฟ้า หรือ กิ้งก่าสวน (Calotes mystaceus)
  • ๒๐ งูเขียวกาบหมาก (Gonyosoma oxycephalum)
  • ๒๑ งูจงอาง (Ophiophagus hannah)
  • ๒๒ งูทางมะพร้าวเขียว (Gonyosoma prasina)
  • ๒๓ งูทางมะพร้าวดำ หรือ งูทางมะพร้าวมลายู หรือ งูหลุนชุน (Elaphe flavolineata)
  • ๒๔ งูทางมะพร้าวแดง (Elaphe porphyracea)
  • ๒๕ งูทางมะพร้าวลายขีด (Elaphe radiata)
  • ๒๖ งูทางมะพร้าวหางดำ หรือ งูใบ้ หรืองูทางมะพร้าวถ้ำ (Elaphe taeniura)
  • ๒๗ งูสิง (Ptyas korros)
  • ๒๘ งูสิงหางดำ (Ptyas carinatus)
  • ๒๙ งูสิงหางลาย หรือ งูสิงลาย (Ptyas mucosus)
  • ๓๐ งูแสงอาทิตย์ (Xenopeltis unicolor)
  • ๓๑ งูหลาม (Python molurus bivittatus)
  • ๓๒ งูหลามปากเป็ด (Python curtus)
  • ๓๓ งูเหลือม (Python reticulatus)
  • ๓๔ จระเข้น้ำเค็ม (Crocodylus porosus)
  • ๓๕ จระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis)
  • ๓๖ จิ้งจกนิ้วยาวกำพล (Cnemaspis kumpoli)
  • ๓๗ จิ้งจกนิ้วยาวไทย (Cnemaspis siamensis)
  • ๓๘ จิ้งจกนิ้วยาวมลายู (Cnemaspis affinis)
  • ๓๙ จิ้งจกนิ้วยาวอินเดีย (Cnemaspis mysoriensis)
  • ๔๐ ตะกวด (Varanus bengalensis nebulosus หรือ Varanus nebulosus)
  • ๔๑ ตะกอง หรือ ลั้ง หรือ กิ้งก่ายักษ์ (Physignathus cocincinus)
  • ๔๒ ตะโขง (Tomistoma schlegelii)
  • ๔๓ ตะพาบ หรือ ปลาฝา (Amyda cartilaginea)
  • ๔๔ ตะพาบแก้มแดง หรือ ปลาฝาดำ (Dogania subplana)
  • ๔๕ ตะพาบข้าวตอก หรือ ตะพาบดาว (Amyda cartilaginea nakornsritamaratensis)
  • ๔๖ ตะพาบพม่า (Nilssonia formosa)
  • ๔๗ ตะพาบม่านลาย หรือ กราวลาย หรือ กริวลาย (Chitra chitra)
  • ๔๘ ตะพาบหัวกบ หรือ กราวเขียว หรือ กริวดาว (Pelochelys bibroni หรือ Pelochelys cantorii)
  • ๔๙ ตุ๊กแกเขาหินทราย (Gekko petricolus)
  • ๕๐ ตุ๊กแกบ้านสีเทา (Gekko smithii)
  • ๕๑ ตุ๊กแกบินหางแผ่น (Ptychozoon kuhli)
  • ๕๒ ตุ๊กแกบินหางเฟิน (Ptychozoon lionatum)
  • ๕๓ ตุ๊กแกป่าคอขวั้น (Cyrtodactylus oldhami)
  • ๕๔ ตุ๊กแกป่าโคนนิ้วติด (Cyrtodactylus brevipalmatus)
  • ๕๕ ตุ๊กแกป่าจารุจินต์ (Cyrtodactylus jarujini)
  • ๕๖ ตุ๊กแกป่าจุดลายผีเสื้อ (Cyrtodactylus papilionoides)
  • ๕๗ ตุ๊กแกป่าดงพญาเย็น (Cyrtodactylus angularis)
  • ๕๘ ตุ๊กแกป่าตะวันออก (Cyrtodactylus intermedius)
  • ๕๙ ตุ๊กแกป่าใต้ (Cyrtodactylus pulchellus)
  • ๖๐ ตุ๊กแกป่าไทรโยค (Cyrtodactylus feae)
  • ๖๑ ตุ๊กแกป่าน้ำหนาว (Cyrtodactylus interdigitalis)
  • ๖๒ ตุ๊กแกป่าพม่า (Cyrtodactylus variegatus)
  • ๖๓ ตุ๊กแกป่ามลายู (Cyrtodactylus consobrinus)
  • ๖๔ ตุ๊กแกป่าลายจุด (Cyrtodactylus peguensis)
  • ๖๕ ตุ๊กแกป่าลายสี่ขีด (Cyrtodactylus quadrivirgatus)
  • ๖๖ ตุ๊กแกหลังจุดคู่ (Gekko monarchus หรือ Gekko tuberculatus)
  • ๖๗ ตุ๊กแกหัวโต (Aeluroscalabotes felinus)
  • ๖๘ ตุ๊ดตู่ (Varanus dumerilii)
  • ๖๙ เต่ากระ (Eretmochelys imbricata)
  • ๗๐ เต่ากะอาน หรือ เต่าจาน (Batagur baska)
  • ๗๑ เต่าจักร (Heosemys spinosa)
  • ๗๒ เต่าดำ หรือ เต่ากา (Siebenrockiella crassicollis)
  • ๗๓ เต่าเดือย หรือ เต่าควะ หรือ เต่าเขาสูง (Manouria impressa)
  • ๗๔ เต่าตนุ (Chelonia mydas)
  • ๗๕ เต่าทะเลลอกเกอร์เฮด หรือ เต่าหัวฆ้อน หรือ เต่าหัวโต (Caretta caretta)
  • ๗๖ เต่าทับทิม (Notochelys platynota)
  • ๗๗ เต่านา (Malayemys subtrijuga)
  • ๗๘ เต่าบึงหัวเหลือง หรือ เต่าบัว หรือ เต่าหม้อ หรือเต่าวัดหัวเหลือง (Hieremys annandalii)
  • ๗๙ เต่าใบไม้ หรือ เต่าแดง (Cyclemys dentata)
  • ๘๐ เต่าปากเหลือง (Melanochelys trijuga)
  • ๘๑ เต่าปูลู (Platysternon megacephalum)
  • ๘๒ เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)
  • ๘๓ เต่าลายตีนเป็ด หรือ เต่าหัวแดง (Callagur borneoensis)
  • ๘๔ เต่าหก หรือ เต่าหกเหลือง (Manouria emys)
  • ๘๕ เต่าหญ้าตาแดง หรือ เต่าสังกะสี หรือ เต่าทะเลริดเลย์ (Lepidochelys olivacea)
  • ๘๖ เต่าห้วยคอลาย (Cyclemys tcheponensis)
  • ๘๗ เต่าหวาย (Heosemys grandis)
  • ๘๘ เต่าหับ (Cuora amboinensis)
  • ๘๙ เต่าเหลือง หรือ เต่าขี้ผึ้ง หรือ เต่าเทียน หรือ เต่าเพ็ก (Indotestudo elongata)
  • ๙๐ เห่าช้าง (Varanus rudicollis)
  • ๙๑ เหี้ย (Varanus salvator)

สัตว์ป่าจํ าพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

  • ๑ กบเกาะช้าง (Linmonectes kohchangae หรือ Rana kohchangae)
  • ๒ กบดอยช้าง (Chaparana aenea หรือRana aenea)
  • ๓ กบท่าสาร (Ingerana tasanae)
  • ๔ กบทูด หรือ เขียดแลว (Limnonectes blythii หรือ Rana blythii)
  • ๕ กบอกหนาม (Paa fasciculispina หรือ Rana fasciculispina)
  • ๖ กะทั่ง หรือ กะท่าง หรือ จักกิ้มน้ำ (Tylototriton verrucosus)
  • ๗ คางคกขายาว (Leptophryne borbonica)
  • ๘ คางคกต้นไม้ (Pedostibes hosii)
  • ๙ คางคกเล็ก หรือ คางคกแคระ (Bufo parvus)
  • ๑๐ คางคกห้วยมลายู (Ansonia malayana)
  • ๑๑ คางคกหัวเรียบ (Bufo macrotis)
  • ๑๒ จงโคร่ง (Bufo asper)

สัตว์ป่าไม่มีกระดูกสันหลัง : แมลง

  • ๑ ด้วงกว่างดาว (Cheirotonus parryi Gray)
  • ๒ ด้วงคีมยีราฟ (Prosopocoilus (Cladognathus) giraffa Oliver)
  • ๓ ด้วงดินขอบทองแดง (Mouhotia batesi Lewis)
  • ๔ ด้วงดินปีกแผ่น (Mormolyce phyllodes Hagenbach)
  • ๕ ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล (Teinopalpus imperialis Hope)
  • ๖ ผีเสื้อถุงทองปักษ์ใต้ (Troides amphrysus Cramer)
  • ๗ ผีเสื้อถุงทองป่าสูง (Troides helena Linnaeus)
  • ๘ ผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์ (Stichophthalma godfreyi Rothschild)
  • ๙ ผีเสื้อนางพญาเขมร (Stichophthalma cambodia Hewitson)
  • ๑๐ ผีเสื้อนางพญาพม่า (Stichophthalma louisa Wood-Mason)
  • ๑๑ ผีเสื้อนางพญาเมืองเหนือ (Stichophthalma camadeva Westwood)
  • ๑๒ ผีเสื้อภูฐาน (Bhutanitis lidderdalii Atkinson)
  • ๑๓ ผีเสื้อรักแร้ขาว (Papilio protenor Cramer)
  • ๑๔ ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ (Meandrusa sciron Leech)
  • ๑๕ ผีเสื้อหางดาบปีกโค้ง (Meandrusa payeni Boisduval)
  • ๑๖ ผีเสื้อหางติ่งสพายเขียว (Papilio palinurus Fabricius)
  • ๑๗ ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายตรง (Actias rhodopneuma Röber)
  • ๑๘ ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก (Actias maenas Doubleday)
  • ๑๙ ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง (Actias selene Hübner)
  • ๒๐ ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายหยัก (Actias sinensis Mell)

สัตว์ป่าจำพวกปลา

  • ๑ ปลาจาดถ้ำ (Poropuntius speleops)
  • ๒ ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus)
  • ๓ ปลาพลวงถ้ำ (Neolissochilus subterraneus)
  • ๔ ปลาผีเสื้อถ้ำ (Cryptotora thamicola)
  • ๕ ปลาค้อถ้ำ (Nemacheilus troglocataractus)
  • ๖ ปลาค้อตาบอด (Schistura oedipus)
  • ๗ ปลาค้อจารุธานินธร์ (Schistura jaruthanini)
  • ๘ ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura spiesi)
  • ๙ ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti)
  • ๑๐ ปลาชะโอนถ้ำ (Pterocryptis buccata)
  • ๑๑ ปลาตะพัด หรือ ปลาอโรวาน่า (Scleropages formosus)
  • ๑๒ ปลาติดหิน หรือ ปลาค้างคาว (Oreoglanis siamensis)
  • ๑๓ ปลาเสือตอ หรือ ปลาเสือ หรือ ปลาลาด (Coius microlepis)
  • ๑๔ ปลาหมูอารีย์ (Botia sidthimunkii)

สัตว์ป่าไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ

  • ๑ กัลปังหาทุกชนิดในอันดับ (Order) Gorgonacea
  • ๒ กัลปังหาดำทุกชนิดในอันดับ (Order) Antipatharia
  • ๓ ดอกไม้ทะเลทุกชนิดในอันดับ (Order) Actinaria
  • ๔ ปะการังแข็งทุกชนิดในอันดับ (Order) Scleractinia และในอันดับ (Order) Stylasterina
  • ๕ ปะการังไฟทุกชนิดในสกุล (Genus) Milleporina
  • ๖ ปะการังสีฟ้าทุกชนิดในอันดับ (Order) Helioporacea
  • ๗ ปะการังอ่อนทุกชนิดในอันดับ (Order) Alcyonacea
  • ๘ ปูเจ้าฟ้า (Phricotelphusa sirindhorn)
  • ๙ ปูทูลกระหม่อม หรือ ปูแป้ง (Thaipotamon chulabhorn)
  • ๑๐ ปูราชินี (Demanietta sirikit)
  • ๑๑ หอยมือเสือทุกชนิดในวงศ์ (Family) Tridacnidae
  • ๑๒ หอยสังข์แตร (Charonia tritonis)

หมายเหตุ

  • ชื่อไทยและชื่อวิทยาศาสตร์ที่แสดงไว้ คัดมาโดยตรงจากบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงฯ

อ่านเพิ่มเติม

สัตว์ป่าสงวน
กฎกระทรวง กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535